ครั้งแรกของโลก มหิดล ค้นพบยาเบาหวานรักษาโรคตาบอดทางพันธุกรรมลอน

17 พ.ค. 2565 | 07:39 น.
2.8 k

ม.มหิดล ค้นพบ การนำยาเบาหวาน ช่วยรักษาโรคตาบอดทางพันธุกรรมลอน ครั้งแรกของโลก เผยเตรียมขยายผลสู่การพัฒนายาเพื่อการรักษาโรคทางพันธุกรรมต่อ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ชยานนท์ พีระพิทยมงคลอาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จากการค้นพบครั้งแรกของโลก โดยนำยาที่มีอยู่แล้วมาประยุกต์ใช้รักษาโรคที่เกิดจากการถ่ายทอดความผิดปกติทางพันธุกรรม เพื่อจุดประกายแห่งความหวังให้ผู้ป่วยไม่ต้องถอดใจยอมจำนนต่อโชคชะตาได้เป็นผลสำเร็จ

ครั้งแรกของโลก มหิดล ค้นพบยาเบาหวานรักษาโรคตาบอดทางพันธุกรรมลอน

ความคืบหน้าของความสำเร็จล่าสุดที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับโลกMethodsX - journal elsevier (open access) เมื่อเร็วๆ นี้ ถึงการค้นพบวิธีการรักษาโรคตาบอดทางพันธุกรรมลอน(Leber heredity optic neuropathy (LHON) จากการทดลองใช้ยาเมทฟอร์มิน (metformin) ซึ่งใช้รักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ไม่พึ่งอินซูลิน ครั้งแรกโลก

แม้จะเป็นเพียงการทดลองกับเซลล์ผู้ป่วยโรคตาบอดทางพันธุกรรมลอน ซึ่งเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการก็ตาม จากผลการค้นพบครั้งแรกของโลกนี้ คาดว่าจะสามารถขยายผลสู่การพัฒนายาเพื่อการรักษาโรคทางพันธุกรรมดังกล่าวอย่างจริงจังต่อไป ซึ่งจะสามารถป้องกันโรคที่เกิดขึ้นจากการถ่ายทอดความผิดปกติทางพันธุกรรมอย่างไม่คาดฝันนี้ได้อย่างเห็นผลต่อไป

ครั้งแรกของโลก มหิดล ค้นพบยาเบาหวานรักษาโรคตาบอดทางพันธุกรรมลอน

สาเหตุของการเกิดโรคตาบอดทางพันธุกรรมลอนว่า มาจากการกลายพันธุ์ของยีนไมโทคอนเดรีย(mitochondria) ซึ่งเป็นอวัยวะในระดับเซลล์ที่ช่วยในการหายใจ และสร้างพลังงาน โดยมีสารพันธุกรรมอยู่ในตัวเองการกลายพันธุ์เกิดจากความบกพร่องในการถ่ายทอดอิเล็กตรอนที่สร้างระดับพลังงาน ซึ่งส่งผลต่ออวัยวะที่ต้องการใช้พลังงานสูง เช่นเซลล์ประสาทตา 

สาเหตุที่โรคตาบอดทางพันธุกรรมลอนมักพบในผู้ป่วยเพศชาย มากกว่าเพศหญิง เกิดขึ้นในช่วงปฏิสนธิในครรภ์มารดา โดยปกติแล้วอสุจิ (sperm) ที่มาจากบิดามักไม่ค่อยนำพาไมโทคอนเดรีย (mitochondria) มาด้วย พันธุกรรมที่ผิดปกติจึงได้รับจากทางมารดาเป็นหลัก ซึ่งผิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของโรคอื่นๆ

 

ผู้วิจัยได้ค้นพบว่า ยาเมทฟอร์มิน (metformin) ซึ่งใช้รักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน มีฤทธิ์ช่วยทำให้ไมโทคอนเดรียมีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น จากการสนับสนุนการจัดเรียงตัวเป็นเครือข่ายเสริมความสามารถในการต้านภาวะอนุมูลอิสระจนสามารถคงอยู่และยืนหยัดในภาวะเครียดได้ 

 

คาดว่าน่าจะยังประโยชน์และยืดเวลาที่จะเกิดอาการมองไม่เห็นได้พอสมควร ในผู้ป่วยโรคตาบอดทางพันธุกรรมลอนซึ่งมักพบในผู้ป่วยตั้งแต่วัยเพียง 10 ปี เริ่มด้วยอาการพร่ามัวในช่วงตรงกลางของจอตา ซึ่งควรจะเป็นช่วงที่ชัดที่สุดของการมองเห็น โดยอาการตาพร่ามัวจะเริ่มที่ตาข้างหนึ่ง ก่อนมีอาการอีกข้างตามมา และตาบอดสนิทในที่สุด 

 

โรคตาบอดทางพันธุกรรมลอนอาจพบได้แม้ในรายที่ไม่แสดงอาการ โดยที่โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีบริการตรวจโรคดังกล่าวเพื่อใช้ประกอบการวินิจฉัยทางคลินิก และทำนายความเสี่ยงก่อนมีอาการในสมาชิกครอบครัวของผู้ป่วย ณ ห้องปฏิบัติการอณูพันธุศาสตร์ ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช ชั้น 4 อาคารศูนย์วิจัยการแพทย์ (SiMR) 

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ชยานนท์ พีระพิทยมงคลอาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเจ้าของผลงานวิจัย“การศึกษาผลของเมทฟอร์มินต่อความผิดปกติของไมโทคอนเดรียของเซลล์สร้างเส้นใยที่ได้จากผู้ป่วยโรคตาบอดทางพันธุกรรมลอน” 

 

ในฐานะผู้คว้าทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 26 พ.ศ.2562 มูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ประเทศไทย และทุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ด้วย "ปัญญาของแผ่นดิน" อันเป็นปณิธานอันแน่วแน่ของมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นแรงผลักดันให้กับนักวิจัยและบุคลากรทางการแพทย์ของมหาวิทยาลัยมหิดลในการมุ่งสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อมวลมนุษยชาติต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง