ทำความรู้จัก"ปอดอักเสบ"ในผู้สูงอายุ อันตรายแค่ไหน

05 พ.ค. 2565 | 05:05 น.
1.5 k

"ปอดอักเสบ"ในผู้สูงอายุ มักเกิดหลังจากป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ สาเหตุ อันตรายของโรคนี้ในผู้สูงอายุ จะป้องกันได้อย่างไร มัดรวมให้อ่านแล้วที่นี่ เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันในช่วงฤดูฝน

ในช่วงเปลี่ยนฤดู ผู้สูงอายุโดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ต้องระมัดระวัง"โรคปอดอักเสบ"หรือ โรคปอดบวม ที่มักเกิดหลังจากป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ เพราะความรุนแรงของโรคนี้อาจก่อให้เกิดการสูญเสียได้เลยทีเดียว สาเหตุ หรือความอันตรายของปอดอักเสบในผู้สูงอายุเป็นอย่างไรนั้น ?

 

"ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมบทความจาก "เมืองไทยประกันชีวิต" ที่นำเสนอในเรื่อง "ปอดอักเสบ โรคที่ผู้สูงอายุต้องระวัง"มาฝาก ตามมาดูกันเลย

 

ปอดอักเสบในผู้สูงอายุมีสาเหตุจากอะไร?
    

ปอดอักเสบ เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง เกิดได้จาก 2 สาเหตุคือ

 

  • ปอดอักเสบจากการติดเชื้อ คือ จากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา ยิ่งร่างกายกำลังอ่อนแอ มีภูมิคุ้มกันต่ำ หากเชื้อเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายผ่านทางระบบทางเดินหายใจ ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อมากขึ้น ส่วนสาเหตุสุดท้ายคือ

 

  • ปอดอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เกิดจากการหายใจเอาสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น ฝุ่น ควัน สารเคมีที่ระเหยได้ รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะ ยาเคมีบำบัด และยาสำหรับควบคุมการเต้นของหัวใจบางชนิด ก็อาจทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบได้

 

การเกิดปอดอักเสบ มักเกิดหลังจากป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ ที่พบมากในช่วงฤดูฝน โดยผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี มักมีภูมิคุ้มกันต่ำ จึงมีความเสี่ยงของโรคปอดอักเสบเป็นอย่างมาก

อันตรายแค่ไหนหากผู้สูงอายุปอดอักเสบ
    

เมื่อผู้สูงวัยป่วยเป็นไข้หวัด และเริ่มมีไข้สูง อ่อนเพลีย ไอ มีเสมหะ หายใจเหนื่อยหอบ คลื่นไส้ อาเจียน และเจ็บแน่นหน้าอก รวมกับอาการที่พบได้บ่อย คือ ซึมลงหรือสับสน โดยไม่มีไข้หรืออาการไอมาก่อน อาการเหล่านี้เป็นสัญญานว่าไม่ได้เป็นแค่ไข้หวัดธรรมดา แต่อาจมีโรคปอดอักเสบร่วมด้วย ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน เนื่องจากอาจมีการติดเชื้อในปอด หากไม่รีบรักษาอาจทำให้เสียชีวิตได้ แม้ว่าความรุนแรงของโรคจะแตกต่างกันไปตามความแข็งแรงของร่างกาย แต่ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ซึ่งเป็นวัยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ทำให้มีความเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตมากที่สุด

 

หากรักษาได้ทันท่วงทีส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นภายใน 2-3 วัน  (การรักษาขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์) แต่ถ้าผู้สูงอายุมีโรคประจำตัว  เช่น เบาหวาน ไตวาย หัวใจ ไขมันพอกตับ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจติดเชื้อรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป และมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนจากปอดอักเสบ

ปอดอักเสบในผู้สูงอายุป้องกันได้
    

แม้ว่าปอดอักเสบในผู้สูงวัยจะมีอาการรุนแรง แต่ก็สามารถป้องกันได้ด้วยวิธีดังนี้

 

  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ
  • กินอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดและไขมันสูง
  • ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • ไม่ควรอยู่ใกล้ชิดผู้ที่ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่
  • ลดการอยู่ในสถานที่แออัดในช่วงที่มีไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ระบาด
  •  ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกปี เนื่องจากเชื้อโรคมีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา 

 

เพราะเราไม่รู้ว่าโรคร้ายต่าง ๆ จะมาเยือนตอนไหน การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อให้ห่างไกลโรคจึงเป็นเรื่องสำคัญเสมอ และไม่ว่าจะวัยไหน เพศใด ก็ควรเริ่มดูแลสุขภาพตัวเอง รวมไปถึงการตรวจเช็กสุขภาพเป็นประจำทุกปี หรือสามารถเตรียมตัวให้พร้อมตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อเพิ่มความมั่นใจด้วยการซื้อประกันสุขภาพตั้งแต่ตอนที่เรายังแข็งแรง มีสุขภาพดี หากมีแล้วจะช่วยเพิ่มความอุ่นใจมากยิ่งขึ้น

 

อ้างอิงที่มา :  เมืองไทยประกันชีวิต