BMW ตั้งเป้า 5 ปี มินิ-โรลส์รอยซ์ อีวี100%

13 ก.พ. 2565 | 09:25 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.พ. 2565 | 16:38 น.

BMW ตั้งเป้า Net Zero ปี 2593 เป็นผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมันรายแรก ที่เข้าร่วมโครงการ Business Ambition for 1.5 °C พร้อมเดินหน้าขยายรถยนต์ไฟฟ้าเต็มสูบ ตั้งเป้าปี 2573 ทั้ง “มินิ และ โรลส์รอยซ์” จะเป็นอีวี 100% ขณะที่ BMW จะเป็นแบรนด์ที่สนองทางเลือกให้ลูกค้า

นายอเล็กซานเดอร์ บารากา ประธานบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า รถยนต์ไฟฟ้า ถือเป็นหัวข้อหลักของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจของบีเอ็มดับเบิลยู โดยความยั่งยืนนี้ ได้ทำให้เกิดมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องของนวัตกรรม ที่มาของโปรดักส์ ระบบการขับเคลื่อน การดีไซน์ การดูแลความต้องการของลูกค้า รวมไปถึงการมีส่วนร่วม (engaged) กับลูกค้า  


 
บีเอ็มดับเบิลยูให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างยั่งยืนมานานแล้ว พร้อมทั้งมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกตั้งแต่ปี 2515 ซึ่งใช้เป็นรถนำขบวนโอลิมปิก ที่มิวนิค เยอรมันนี และมีการพัฒนาเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้ามาเรื่อยๆ เนื่องจากมองว่า พลังงานไฟฟ้าจะมีบทบาทสำคัญในอนาคต 

ทั้งนี้ บีเอ็มดับเบิลยูเชื่อใน เรื่อง “พลังแห่งทางเลือก” (The Power of Choice) คนแต่ละที่แต่ละเมืองมีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน มีความพร้อมแตกต่างกัน บางที่ใช้ปลั๊กอินไฮบริค อีวี หรือ ใช้รถยนต์สันดาปทั่วไป หน้าที่ของ บีเอ็มดับเบิลยู คือ  ต้องทำโปรดักส์ที่ตอบโจทย์กับลูกค้าทั่วโลกอย่างยั่งยืนให้มากที่สุด เช่น หากเป็นรถที่ใช้น้ำมัน เครื่องยนต์ก็ต้องประหยัดน้ำมัน คายของเสียให้น้อยที่สุด นั่นคือสิ่งที่บีเอ็มดับเบิลยูพยายามพัฒนามาตลอด

BMW ตั้งเป้า 5 ปี มินิ-โรลส์รอยซ์ อีวี100%
 
การพัฒนาโปรดักส์ เพื่อสนองตอบ “พลังแห่งทางเลือก” ของลูกค้าทั่วโลก จึงมีความหลากหลาย ผ่านการพัฒนาและวิจัยนวัตกรรมยานยนต์ โดยบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ได้รายงานข้อมูลประจำปี 2563 (https://report.bmwgroup.com/) ว่า มีการใช้จ่ายในด้านการวิจัยและพัฒนาทั้งหมด 6,279 ล้านยูโร หรือประมาณ 2.32 แสนล้านบาท ตั้งเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero ไว้ในปี พ.ศ. 2593 ตามที่นายโอลิเวอร์ ซิปเซ่ ประธานกรรมการบริหารของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ได้ประกาศในงาน IAA Mobility 2021 ไว้ว่า บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ตั้งเป้าว่าจะเป็นกลางทางคาร์บอนตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าภายในปี 2593 และได้เป็นผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมันแบรนด์แรกที่เข้าร่วมโครงการ Business Ambition for 1.5ํ C

นายอเล็กซานเดอร์ กล่าวอีกว่า ในปี 2568 จะมีรถยนต์บีเอ็ม ดับเบิลยูหนึ่งรุ่นที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ (fully electric cars) ในระดับราคาตั้งแต่ต่ำสุดไปจนถึงสูงสุด โดบบีเอ็มดับเบิลอยู่จะพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ และประมาณปี 2573 ทั้ง รถมินิ และ โรลส์รอยซ์ จะเป็น fully electric cars 100% ส่วนบีเอ็มดับเบิลยู จะเป็นแบรนด์ที่สนองตอบ “พลังแห่งทางเลือก” ให้ลูกค้า เพื่อสนองตอบความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุด 

 

สำหรับประเทศไทย บีเอ็มดับเบิลยู ยังให้ความสำคัญเรื่องการขยายตัวเน็ตเวิร์ต ที่ผ่านมา ได้เปิดตัว ChargeNow เครือข่ายสถานีชาร์จไฟฟ้าสาธารณะสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ปลั๊กอิน ไฮบริด ทุกยี่ห้อและทุกรุ่น ซึ่งขณะนี้มีมากกว่า 100 สถานีทั่วประเทศ และยังมีแผนขยายต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการในไทย สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่มีการเติบโตเกือบเท่าตัวในปีที่แล้ว โดยปี 2563 ยานยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศจดทะเบียนอยู่ที่ 2,999 คัน ปี 2564 ตัวเลขอยู่ที่กว่า 5,700 คัน 

 

แผนการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าของบีเอ็มดับเบิลยู ไม่ได้ทำเพียงแค่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกสู่ตลาด แต่เป็นการบริหารจัดการทั้งกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ โดยมองเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) เป็นหลัก เริ่มตั้งแต่แร่ธาตุต่างๆ ที่นำมาผลิตแบตเตอรี่ ต้องเป็นการทำเหมืองที่ถูกต้อง ไม่ได้ใช้แรงงานผิดกฎหมาย ซัพพลายเออร์ที่ป้อนชิ้นส่วนให้โรงงาน บีเอ็มดับเบิลยูมีแบบ สอบถาม sustainable questionnaire ว่า วิธีการในการสรรหาวัตถุดิบเป็นอย่างไร มีการใช้พวกวัสดุที่รีไซเคิลหรือไม่ มีการใช้วัสดุที่คลายคาร์บอนเป็นอย่างไรบ้าง เป็นการควบคุมดูแลทั้งกระบวนการ ก่อนมาเข้าโรงงานผลิตเป็นรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์อื่นๆ ออกมา 

 

 จนกระทั่งเมื่อรถยนต์ถูกขายไปสู่มือลูกค้า และหมดสภาพการใช้งาน บีเอ็มดับเบิลยูก็มีกระบวนการนำกลับวัตถุดิบที่สามารถรีไซเคิล แยกส่วนออกมา เพื่อนำไปรีไซคลิ้งผลิตเป็นนชิ้นส่วน หรือรถยนตร์ต่อไป นี่คือการมองเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนที่บีเอ็มดับเบิลยูให้ความสำคัญมากๆ จากจำนวนโรงงานของบีเอ็มมดับเบิลยูที่มีอยู่ 31 แห่ง ใน 15 ประเทศทั่วโลก ทุกโรงงานจะให้ความใส่ใจกับเรื่องเหล่านี้เหมือนกัน


 
รวมไปถึงความพยายามในการลดใช้พลังงาน เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ หรือการนำมูลวัวมาผลิตเป็นพลังงาน เพื่อลดการใช้พลังงาน บีเอ็มดับเบิลยูจะมีการลงทุนในส่วนต่างๆ เหล่านี้ต่อเนื่อง ซึ่งต้องยอมรับว่า การลงทุนด้านความยั่งยืนเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูง แต่ในระยะยาว เมื่อทุกอย่างเดินหน้าไปแล้ว จะทำให้ได้ผลตอบรับที่ดี ทั้งสภาพแวดล้อมของโลก และสังคม

BMW ตั้งเป้า 5 ปี มินิ-โรลส์รอยซ์ อีวี100%

หน้า 7 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,757 วันที่ 13 - 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565