เปิดตำนาน 100 ปี ‘บ้านสุริยาศัย’ ทุกเมนู มีเรื่องเล่า

29 ม.ค. 2565 | 18:12 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ม.ค. 2565 | 01:12 น.
1.4 k

เรือนไทยครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 ชั้น ขนาดพื้นที่ 1 ไร่เศษ บริเวณหัวมุมถนนสุรวงศ์ตัดกับถนนทรัพย์ โดดเด่นสะดุดตา ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบวิคตอเรียผสมโคโลเนียล เป็นที่ตั้งของ "บ้านสุริยาศัย"

สันนิษฐานว่าออกแบบโดยช่างชาวอิตาเลียน ที่มาดำเนินการก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม  ซึ่งถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2465  เล่ากันว่า ที่มาของชื่อ “สุริยาศัย” เป็นการนำคำว่า “สุริยา” ซึ่งสัญลักษณ์ของสกุลบุนนาค มาสมาสกับคำว่า “อาศัย”

บ้านสุริยาศัย

ต่อมาในปี 2560 “บ้านสุริยาศัย” ได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นร้านอาหาร เพื่อปลุกเสน่ห์ความเป็นไทยให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง โดยนำจุดเด่นของบริการต่างๆ ที่มีความหลากหมายมาผนวกเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น การปรับปรุงตัวบ้านเดิมเพื่อให้บริการอาหารไทยตำรับชาววัง ในชื่อ “สุริยาศัย คูซีน

 

หรือจะเป็น “สุริยาศัย ทีรูม” บรรยากาศรื่นรมย์กับการจิบชายามบ่าย ชมสวน พร้อมลิ้มรสชาติขนมคาวหวานนานาชนิด

บ้านสุริยาศัย

หากชื่นชอบการทำอาหารที่นี่ยังมี “สุริยาศัย คุ้กกิ้ง คลาส” ที่ให้คุณเพลิดเพลินไปกับการเรียนทำอาหารหรือขนมไทยชาววัง ที่มาพร้อมเคล็ดลับความอร่อยที่ไม่เหมือนใคร

 

ในยามค่ำย่ำเย็น ที่นี่ยังมีบริการ “สุริยาศัย บาร์” ที่พร้อมเสิร์ฟเมนูค็อกเทลแบบไทยร่วมสมัย ในบรรยากาศที่สวยงามและเป็นส่วนตัว

บ้านสุริยาศัย

ความโดดเด่นที่ได้รับการกล่าวขานถึงสำหรับผู้ที่มาเยือน “บ้านสุริยาศัย” ย่อมหนีไม่พ้นเมนูอาหารรสเลิศ ที่มีให้เลือกมากกว่า 200 เมนู สลับผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนให้เลือก โดยเฉพาะเมนูอาหารตามฤดูกาล ที่หารับประทานได้ยากยิ่ง สมกับที่คุยโวว่า “ทุกเมนูมีเรื่องเล่า

 

เพราะแม้แต่เมนูธรรมดาๆ ที่บ้านสุริยาศัย สามารถทำให้กลายเป็น “เมนูพิเศษ” ที่เมื่อได้ลิ้มลองแล้วต้องบอกว่า ไม่ธรรมดาจริงๆ

บ้านสุริยาศัย

ส่วนเมนูที่จะแนะนำในวันนี้ขอเน้นที่ความหลากหลาย ให้ครบทั้งมื้อหนักและมื้อเบา เริ่มกันที่ เครื่องว่าง กับเมนู “ขนมเบื้องแย้มโอษฐ์” เมนูประยุกต์จาก “ขนมเบื้องอ้าปาก” ตำรับสายสกุล “พนมวัน” ที่มีชื่อเสียงเรื่องรสชาติโดดเด่นไม่เหมือนใครแต่ยังคงความอร่อยของรสแบบดั้งเดิมไว้อย่างครบถ้วน ตัวไส้ทำจากกุ้ง มะพร้าวและเครื่องเคราต่างๆ นำมาผัดจนได้ที่ จากนั้นจัดเสิร์ฟพร้อมแป้งขนมเบื้องและเนื้อปูทะเล แนะนำให้รับประทานพร้อมน้ำจิ้มอาจาดแบบโบราณ

 

ไข่พะโล้ไทยพญาตานี” เมนูที่หลายคนได้ลิ้มรสตั้งแต่เด็ก แต่หากได้สัมผัสกับไข่พะโล้ไทยพญาตานี จะต้องทึ่งกับรสชาติเข้มข้น เค็ม หวานกำลังพอดี บวกกับน้ำซุปที่ได้จากการเคี่ยวน้ำตาลโตนดจนกลายเป็นคาราเมลแทนการใช้ซีอิ๊วดำ และที่แตกต่างทำให้หลายคนงงกับวิธีการต้มไข่พะโล้ที่เข้าเนื้อเนียนนุ่ม แต่เป็นยางตานีหรือยางมะตูมได้ ถือเป็นความพิถีพิถันแบบมืออาชีพจริงๆ

บ้านสุริยาศัย

อีกเมนูที่ไม่ว่าชนชาติใด เมื่อได้รับประทานจะต้องยกนิ้วให้ “แกงมัสมั่นเนื้อน่องลาย” ดัดแปลงมาจากตำรับของม.ล. เติบ ชุมสาย “ผัดพริกขิงตามเสด็จฯ แปลง” ดัดแปลงมาจากผัดพริกขิงตามเสด็จฯ ตำรับของหม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์ เครื่องเสวยแบบแห้งที่สมัยก่อน เมื่อเจ้านายเสด็จฯประพาสต้น จะต้องมีเมนูนี้ติดตามขบวนเสด็จฯ ไปด้วยเสมอ

 

เมฆาสุริยาศัย” เครื่องหวานจานพิเศษที่โดดเด่นด้วยไอศกรีมกะทิและมะม่วงโฮมเมดสูตรพิเศษเฉพาะของบ้านสุริยาศัย รับประทานคู่กับลูกชิดไพลิน มะตูมเชื่อมจากตรอกมะตูมชื่อดัง และรังนกนางแอ่น เสิร์ฟมาในถ้วยไอศกรีมแบบโบราณที่สั่งทำขึ้นเป็นพิเศษ

บ้านสุริยาศัย

หลายคนที่อ่านมาถึงตอนนี้ อาจจะคิดว่า แต่ละเมนู ที่ถูกตกแต่งหรูหรา งดงาม ต้องราคาแพงหูฉี่ แต่ขอบอกเลยว่า ราคาเริ่มต้นหลักร้อย มีตั้งแต่ 300 ขึ้นไปจนถึงหลักพันบาท ขนาดกำลังพอเหมาะสำหรับผู้ที่มาเป็นครอบครัว หรือจะรับประทาน 2 คน

 

ขอบอกว่า “คุ้มค่า คุ้มราคา” ทั้งความอร่อย บรรยากาศ รวมถึงบริการแบบอบอุ่น หากมีโอกาส ต้องไม่พลาดไปใช้บริการ รับรองจะติดใจ ...

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,753 วันที่ 30 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565