ตรุษจีน 2567 เบื้องหลังความอร่อยหนุบหนับ "ขนมเข่ง-ขนมเทียน"

21 ม.ค. 2567 | 00:10 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ม.ค. 2567 | 00:44 น.
7.3 k

ตรุษจีน 2567 ใกล้เข้ามาแล้ว เมื่อถึงเทศกาลวันตรุษ รวมทั้งเทศกาลไหว้เจ้าและงานประเพณีมงคลของคนไทยเชื้อสายจีน เรามักจะได้เห็น “ขนมเข่ง” และ “ขนมเทียน” เป็นพระเอกของงานเสมอ ๆ ใครรู้บ้างว่า ทำไมเราต้องไหว้ด้วยขนมอร่อยทั้งสองชนิดนี้ ที่นี่มีคำตอบ   

 

แต่ดั้งเดิมมานั้น ขนมเข่งและขนมเทียน ถูกใช้ในการไหว้ช่วงเทศกาลสารทจีนเท่านั้น บรรพบุรุษชาวจีนจะคุ้นเคยกับขนมนี้กันเป็นอย่างดี พอถึงวันไหว้บรรพบุรุษ ลูกหลานจึงนิยมนำขนมชนิดนี้มาเซ่นไหว้

สำหรับ “ขนมเข่ง” เทศกาลตรุษจีน มีเรื่องเล่าตำนานความเป็นมาว่า สมัยก่อนมีเทพเจ้าจีนซึ่งคอยปกปักรักษามนุษย์ มีหน้าที่ต้องขึ้นไปรายงานความดีและความชั่วของมนุษย์ให้กับองค์เง็กเซียนฮ่องเต้บนสวรรค์ได้รับทราบก่อนที่จะถึงวันตรุษจีนประมาณ 4 วัน

ขนมเข่ง

พอในช่วงก่อนที่จะถึงวันตรุษจีน ก็มีมนุษย์ที่ไม่ค่อยได้ทำความดีแต่หัวหมอ คิดทำขนมเข่งขึ้นมา เพื่อให้เทพเจ้าองค์นี้ได้กิน ภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกว่า ขนมเหนียนเกา (แปลว่าขนมที่ทำมาจากแป้ง) ด้วยความหวังว่าขนมเข่งซึ่งทำจากแป้งกวนจนใสและมีความเหนียวหนึบนั้น จะช่วย “ปิดปาก” เทพเจ้าให้ไม่สามารถรายงานความชั่วร้ายของมนุษย์ได้ เพราะขนมเข่งมีลักษณะเหนียวหนืด เมื่อเคี้ยวในปากแล้วจะพูดไม่ถนัด เนื่องจากขนมนี้ทำจากแป้งกวนกับน้ำตาลทรายแล้วนำไปนึ่งจนสุก

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเล่าอีกตำนานว่า ขนมเข่งเป็นขนมที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงที่ชาวจีนอพยพมาอยู่เมืองไทยนี่เอง ด้วยความที่พวกเขาต้องการอาหารที่สามารถเก็บรักษาได้นาน จึงเริ่มมีการทำขนมเข่งขึ้นมา เพราะว่าขนมเข่งที่นึ่งจนสุกแล้วสามารถเก็บได้นาน ไม่เสียง่าย จนขนมเข่งกลายเป็นขนมสำคัญของคนจีน และเพื่อให้ชาวจีนได้ระลึกถึงช่วงชีวิตที่ยากจน แร้นแค้นและยากลำบาก พวกเขาจึงนำขนมเข่งมาเซ่นไหว้แด่บรรพบุรุษ (ในวันสารทจีน) และเทพเจ้า (ในวันตรุษจีน)

ส่วน “ขนมเทียน” นั้น ไม่ใช่ขนมของคนจีนมาตั้งแต่แรก แต่เป็นขนมที่ชาวจีนดัดแปลงมาจากขนมใส่ไส้ของไทยเรานี่เอง โดยมีปรับเปลี่ยนจากตัวแป้งที่ผสมจากแป้งข้าวเจ้ากับน้ำกะทิ มาเป็นแป้งข้าวเหนียวผสมกับน้ำ

ขนมเทียน

ขนมเทียนมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น แต่ชื่อหลัก และนิยมใช้จะเป็น “ขนมเทียน” ส่วนชื่อที่มักเรียกต่าง ได้แก่ “ขนมจ๊อก” ทางภาคเหนือ ส่วนทางภาคกลางเรียก “ขนมนมสาว” และภาคอีสานเรียก “ขนมหมก” 

ขนมเทียนมีวิธีทำคล้าย ๆ กับขนมเข่งที่ชาวจีนใช้ไหว้เจ้า แต่แตกต่างกันที่การห่อทับด้วยใบตองเป็นรูปสามเหลี่ยม และมีไส้หวานที่ทำจากมะพร้าวขูดฝอยผัดเคี่ยวกับน้ำตาลปี๊บ และไส้เค็มที่ทำจากถั่วเหลืองบดแล้วนำมาผัดเกลือกับพริกไทยเพื่อให้ได้รสชาติอร่อยมากยิ่งขึ้น

ขนมเทียนไส้หวาน

สำหรับความหมายของ “ขนมเทียน” นั้น สื่อความหมายถึง การมีชีวิตที่ราบรื่น และด้วยรูปร่างขนมที่เป็นกรวยแหลมเหมือนเจดีย์ในวัด จึงถือว่าเป็นขนมมงคลที่ใช้ในวันสำคัญทั้งของชาวไทยและชาวจีน ส่วน “ขนมเข่ง”  สื่อถึงความหวานชื่น ความราบรื่น และความอุดมสมบูรณ์

จะเห็นได้ว่า ขนมไหว้เจ้าในวันตรุษจีนจะเป็นขนมที่ทำจากแป้งกวนกับน้ำตาล แล้วนำไปนึ่งเป็นส่วนใหญ่ เพราะจะทำให้ได้เนื้อขนมและรสชาติที่เป็นมงคล สื่อถึงความหวานชื่น ราบรื่น และสมบูรณ์พูลผลนั่นเอง

ที่มา  https://www.museumthailand.com/