2 นักออกแบบรุ่นใหม่ คว้า Gold Winners คน ชุมชน สิ่งแวดล้อม เวที "นิปปอนเพนต์"

10 ม.ค. 2565 | 19:54 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ม.ค. 2565 | 03:02 น.

นิปปอนเพนต์ เผยสองนักศึกษารุ่นใหม่ผู้ชนะเลิศจากเวที Asia Young Designer Awards 2021 มุ่งสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบที่เข้าใจปัญหา และตอบโจทย์ผู้ใช้งานรอบด้าน

นายวัชระ ศิริฤทธิชัย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นิปปอนเพนต์ เดคโคเรทีฟ โคทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัท นิปปอนเพนต์ เดคโคเรทีฟ โคทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศผลสองผู้ชนะประเทศไทยจากการแข่งขันการออกแบบด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบตกแต่งภายในระดับมหาวิทยาลัย โครงการ Asia Young Designer Awards 2021 (AYDA 2021) โดยปีนี้ ชานน พันธุ์นายัง หรือแบงค์ นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กับผลงาน "WEAVE" และ พัชรกุล แพสมหวัง หรือใบตอง นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กับผลงาน "Pause in พักพิงที่ระลึก" ชนะใจกรรมการ คว้ารางวัลชนะเลิศ Gold Winner ในสาขาสถาปัตยกรรม และ สาขาออกแบบตกแต่งภายใน 

 

นอกจากเงินรางวัลที่ได้ 2 ผู้ชนะ ยังเตรียมตัวเข้าร่วมกิจกรรม Asia Young Designer Summit 2021 ร่วมกับผู้ชนะจากหลากหลายประเทศทั่วเอเชีย เพื่อชิงโอกาสเข้าอบรมหลักสูตรพิเศษ Design Discovery Program ที่มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก Harvard's Graduate School of Design สหรัฐอเมริกา เป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ มูลค่ากว่า 10,000 เหรียญสหรัฐ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ภายใต้โจทย์การประกวดในหัวข้อ “FORWARD: Amplifying Empathy Through Design” กับการออกแบบที่คำนึงถึงผู้คน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม แบงค์และใบตองต่างก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบผ่านกระบวนการคิด และเดินหน้าทำความเข้าใจปัญหาของผู้ใช้งานได้อย่างลึกซึ้ง ดึงความต้องการ ความจำเป็น และปัญหาของผู้ใช้งาน มานำเสนอเป็นโซลูชันงานออกแบบที่ผสานทั้งนวัตกรรมและเทคโนโลยี ยกระดับคุณภาพชีวิต ตอบโจทย์ความต้องการผู้ใช้งานได้อย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านกายภาพ จิตใจ อารมณ์ สิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ

 

ผลงาน WEAVE ของแบงค์ ได้รับแรงบันดาลใจจากการกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่จังหวัดพัทลุงซึ่งเป็นจังหวัดที่อุดมไปด้วยธรรมชาติที่สมบูรณ์ แต่ในความอุดสมบูรณ์นี้ก็มีภัยร้ายอย่างการลักลอบเผาทำลายป่าบ่อยครั้ง โดยหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายและดับไฟได้ยากเนื่องจากเป็นระบบนิเวศป่าพรุ คือบริเวณทะเลน้อยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทะเลสาบสงขลา ที่หากไม่สามารถป้องกันได้ ก็อาจนำไปสู่การสูญเสียพื้นที่ธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ไป

ด้วยเหตุนี้ แบงค์จึงเล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมอนุรักษ์ และฟื้นฟูพื้นที่บริเวณนี้ ผ่านการออกแบบงานสถาปัตยกรรม WEAVE ที่เสนอมุมมองการอนุรักษ์ และสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของธรรมชาติ โดยผลงานการออกแบบนี้เป็นการอนุรักษ์เชิงท่องเที่ยวที่ส่งเสริมชุมชนไปในตัว ผ่านการทำความเข้าใจบริบทพื้นที่ ชุมชน และธรรมชาติ ผสมผสานพื้นที่ในการปลูกกระจูด ศาลาประชาคม พื้นที่บริการท่าเรือหางยาว ร่วมกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว ไปพร้อมกับการทำกิจกรรมปลูกกระจูดทดแทน อีกทั้งยังนำเศษกระจูดจากผลิตภัณฑ์สารกระจูดของชุมชน มาผลิตเป็นวัสดุในการก่อสร้าง นับเป็นอีกหนึ่งการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เดิมของชุมชนอีกด้วย

นายชานน พันธุ์นายัง หรือแบงค์ นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ผู้ชนะ Gold Winner Architectural กล่าวว่า ในฐานะคนในพื้นที่ ผมอยากเสนอมุมมองในการแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้คนในชุมชนที่กำลังเผชิญอยู่ผ่านงานออกแบบที่คำนึงถึงความต้องการ และสภาพแวดล้อมของพวกเขา โดยปัจจุบันชุมชนมีความต้องการที่จะอนุรักษ์ธรรมชาติและวิถีชีวิตเอาไว้ แต่การอนุรักษ์อย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ จึงเป็นที่มาของงานออกแบบสถาปัตยกรรม WEAVE ที่คำนึงถึงองค์ประกอบชุมชน คนในพื้นที่ อาชีพ รายได้ และต่อยอดวิถีชีวิตของพวกเขาได้อย่างยั่งยืน โดยตั้งแต่เข้ามาเรียนคณะสถาปัตยกรรม ผมตั้งใจมาตลอดที่อยากจะสร้างสรรค์งานออกแบบที่ส่งเสริมและพัฒนาชุมชน เพื่อยืนยันหลักการและความเชื่อของตัวเองที่มีต่อการออกแบบ ผมรู้สึกภูมิใจมากที่ได้ถ่ายทอดความเชื่อของตัวเองลงบนผลงานนี้ที่สร้างประโยชน์ และตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานออกแบบได้อย่างแท้จริง ผมต้องขอขอบคุณเวทีการประกวด AYDA ที่เปิดโอกาสให้นักออกแบบรุ่นใหม่อย่างผมได้มีพื้นที่ให้แสดงออก และยังสานฝันหลักการในการออกแบบให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมอบโอกาสมากมายที่หาจากที่ไหนไม่ได้อีกด้วย

 

ด้านผลงาน Pause in พักพิงที่ระลึก ของใบตอง มีจุดเริ่มต้นจากความสนใจในพื้นที่ประวัติศาสตร์ดินถล่มของตำบลกะทูน จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งสร้างความสูญเสียมากมายในอดีตจนทำให้หมู่บ้านกะทูนกลายเป็นเมืองบาดาล แต่เมื่อเวลาผ่านไป ธรรมชาติในหมู่บ้านกลับมาอุดมสมบูรณ์และสวยงาม ชาวบ้านในหมู่บ้านกลับมาดำเนินชีวิตโดยมีการปลูกและกรีดยางพาราเป็นวิถีชีวิตหลัก อย่างไรก็ตามด้วยปัญหาการขาดความรู้ด้านการแปรรูป การสร้างมูลค่ายางพารา ตลอดจนการสนับสนุนคุณภาพชีวิตในการประกอบอาชีพที่ไม่มากพอ และปัญหาราคายางที่ตกต่ำซึ่งสวนทางกับความต้องการของยางในตลาดโลก ทำให้ชาวบ้านและคนรุ่นหลังเริ่มถอดใจกับการเป็นเกษตรกรชาวสวนยาง ด้วยเรื่องราวทั้งหมดนี้ ใบตองจึงสร้างสรรค์ผลงาน Pause in พักพิงที่ระลึก ขึ้นเพื่อสนับสนุนการประกอบอาชีพของชาวสวนยางให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีพื้นที่พักผ่อนพักพิงจากความเหนื่อยล้า อนุรักษ์การแปรรูปยางแบบเดิม ควบคู่ไปกับการให้ความรู้การแปรรูปยางแบบใหม่ เพื่อให้ชาวสวนสามารถสร้างรายได้และอยู่ได้ด้วยตนเองได้ พร้อมนำเอาเหตุการณ์โศกเศร้าในอดีตมาสร้างเป็นพื้นที่ให้ผู้คนได้รำลึกอันจะนำไปสู่แสงสว่างและความหวังแห่งการอยู่รอดท่ามกลางความสมบูรณ์ของธรรมชาติที่สวยงามในปัจจุบันต่อไป

 

นางสาวพัชรกุล แพสมหวัง หรือใบตอง นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผู้ชนะ Gold Winner Interior Design กล่าวว่า ด้วยความผูกพันกับจังหวัดนครศรีธรรมราช และใกล้ชิดกับบริบทคนในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือเพื่อน ๆ ผลงานการออกแบบ Pause in พักพิงที่ระลึก นี้เกิดขึ้นจากความต้องการของดิฉันที่อยากจะเข้าใจผู้คนในชุมชนว่าต้องการงานออกแบบไหน

 

หลังจากพูดคุย ทำความเข้าใจ ก็ได้ทราบถึงปัญหาและนำเอาการออกแบบมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหา ปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชน เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาสัมผัสความสวยงามและวิถีชาวสวนยางในอดีตสู่ปัจจุบันท่ามกลางธรรมชาติที่งดงามไปพร้อม ๆ กับเรียนรู้เรื่องราวในอดีต ให้พวกเขาได้ตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติที่ควรรักษาเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของเยาวชน ควบคู่ไปกับการสร้างรายได้ให้กับชุมชน คงไว้ซึ่งวิถีชีวิตและผู้สืบทอดเจตนารมณ์ต่อไป การได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดครั้งนี้เรียกได้ว่าเกินฝันไปมาก ต้องขอขอบคุณ AYDA ที่ให้โอกาส ดิฉันจะตั้งใจและพัฒนาตัวเองเพื่อเข้าแข่งขันในรอบการประกวดนานาชาติอย่างแน่นอน