ฮาโลวีน (Halloween) 2023 พลิกประวัติความสยอง ที่มาและความหมาย

18 ต.ค. 2566 | 00:05 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ต.ค. 2566 | 06:35 น.
17.0 k

เทศกาลฮาโลวีน (Halloween) หรือ “วันปล่อยผี” นั้น ตรงกับวันที่ 31 ต.ค. ของทุกปี เรื่องเล่าขานเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา ถูกบอกเล่าส่งต่อสืบธรรมเนียมกันมาทุกๆปี ลองมาทบทวนกันอีกสักครั้งก่อนไปร่วมฉลองฮาโลวีนปีนี้ว่า เรารู้จักเทศกาล “ฮาโลวีน” กันดีแล้วหรือยัง     

วันฮาโลวีน (Halloween) ของทุกปี จะตรงกับ วันที่ 31 ตุลาคม เชื่อว่ามีที่มาจากวันฉลองปีใหม่ของชาวเซลท์ (Celt) ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่เรียกว่า Samhain ซึ่งเป็นชื่อของเทพเจ้าแห่งความตาย ทั้งนี้ ในวันที่ 31 ตุลาคม ชาวเซลท์ (Celt) ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองเผ่าหนึ่งในไอร์แลนด์ ถือกันว่าเป็นวันสิ้นสุดของฤดูร้อน และวันต่อมา คือ วันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นวันขึ้นปีใหม่

ประวัติความเป็นมาของ “ฮาโลวีน”

ชาวเซลท์เชื่อกันว่า วันที่ 31 ตุลาคมซึ่งเป็นวันสิ้นสุดฤดูร้อน เป็นวันที่มิติคนตายและคนเป็น หรือโลกแห่งวิญญาณและโลกแห่งมนุษย์ จะถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน และวิญญาณของผู้ที่เสียชีวิตในปีที่ผ่านมา จะเที่ยวหาร่างของคนเป็นเพื่อเข้าสิง เพื่อที่วิญญาณนั้นจะได้มีชีวิตขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ คนเป็น ๆ จึงต้องพยายามทำทุกวิถีทางที่จะป้องกันไม่ให้วิญญาณมาเข้าสิงร่างของตน ชาวเซลท์จึงปิดไฟทุกดวงในบ้าน เพื่อให้อากาศหนาวเย็นและไม่เป็นที่พึงปรารถนาของบรรดาผีร้าย นอกจากนี้ ยังพยายามแต่งกายปลอมตัวเป็นผีร้าย เพื่อให้ผีหรือดวงวิญญาณที่กำลังล่องลอยอยู่ในโลกมนุษย์ เข้าใจผิดว่าเป็นผีเหมือนกัน ก็จะได้ไม่เข้าสิง 

นอกจากนี้คืนดังกล่าวยังเป็นคืนเฉลิมฉลองการสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยว ชาวเซลท์โบราณ ยังมีการนำสัตว์หรือพืชผลมาบูชายัญให้กับเหล่าภูติผีและดวงวิญญาณด้วย หลังจากคืนนั้นไฟทุกดวงจะถูกดับ และจุดขึ้นใหม่ด้วยไฟศักดิ์สิทธิ์

ฮาโลวีน (Halloween) 2023 พลิกประวัติความสยอง ที่มาและความหมาย

กาลเวลาผ่านไป ความเชื่อเรื่องผีสิงร่างมนุษย์เสื่อมถอยลงตามลำดับ ฮาโลวีนจึงกลายเป็นเพียงพิธีการแต่งตัวเป็นผี แม่มด สัตว์ประหลาด ตามแต่จะสร้างสรรค์กันไป  เดิมทีนั้น เทศกาลฮาโลวีนจัดขึ้นในประเทศอังกฤษ ไอร์แลนด์ สกอตแลนด์ และประเทศข้างเคียงเท่านั้น แต่เมื่อชาวไอริชและชาวสกอต อพยพไปตั้งหลักแหล่งในสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 1840 ก็ได้นำเอาประเพณีนี้ไปปฏิบัติด้วย ซึ่งปรากฏว่าถูกใจชาวอเมริกันทุกเชื้อชาติ จึงปฏิบัติตามกันอย่างจริงจังตลอดมา และตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ก็ได้กลายเป็นเทศกาลประจำชาติมาจนทุกวันนี้

ในยุคอดีตมีการนำหัวเทอร์นิป (turnip) หรือ หัวผักกาด มาคว้านไส้ด้านในเพื่อใส่ดวงไฟไว้เป็นโคมให้แสงสว่างในเทศกาลฮาโลวีน แต่ในสหรัฐอเมริกา ฟักทองเป็นพืชท้องถิ่นที่หาได้ง่ายกว่าและปลูกกันแพร่หลาย จึงมีการปรับเปลี่ยนมาใช้ฟักทองเป็นโคมฮาโลวีนแทน 

กิจกรรมที่ทำกันในวันฮาโลวีน

การฉลองวันฮาโลวีนนิยมจัดกันในสหรัฐอเมริกา ไอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร แคนาดา และยังมีในออสเตรเลีย กับนิวซีแลนด์ด้วย รวมถึงประเทศอื่นในทวีปยุโรปก็นิยมจัดงานวันฮาโลวีนเพื่อความสนุกสนาน ในประเทศทางตะวันตก เด็ก ๆ จะแต่งกายเป็นภูตผีปีศาจพากันชักชวนเพื่อนฝูงออกไปงานฉลอง เรียกว่า การเล่น Trick or Treat (หลอกหรือเลี้ยง) คือการเดินเคาะประตูขอขนมตามบ้าน

ประเพณีการเล่นดังกล่าว เริ่มขึ้นในราวคริสต์ศตวรรษที่ 9 โดยชาวยุโรป ซึ่งถือว่าวันที่ 2 พฤศจิกายน เป็นวัน "All Souls" พวกเขาจะเดินร้องขอ "ขนมสำหรับวิญญาณ" (soul Cake) จากหมู่บ้านหนึ่งไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่ง โดยเชื่อว่า ยิ่งให้ขนมเค้กมากเท่าไร วิญญาณของญาติผู้บริจาคก็ได้รับผลบุญ ทำให้มีโอกาสขึ้นสวรรค์ได้มากเท่านั้น

Trick or Treat

ส่วน ประเพณี Trick or Treat ในสหรัฐอเมริกา คือ การละเล่นอย่างหนึ่งที่เด็ก ๆ เฝ้ารอคอยในวันฮาโลวีน ตามบ้านเรือนจะตกแต่งด้วยโคมไฟฟักทอง และตุ๊กตาหุ่นฟางที่เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลประเพณีเก็บเกี่ยว (Harvest) ในช่วงเดียวกันนั้น แต่ละบ้านจะเตรียมขนมหวานไว้เตรียมคอยท่า ส่วนเด็ก ๆ ในละแวกบ้านก็จะแต่งตัวแฟนซีเป็นภูตผีมาเคาะตามประตูบ้าน โดยเน้นบ้านที่มีโคมไฟฟักทองประดับ (เพราะมีความหมายโดยนัยว่าต้อนรับพวกเขา) พร้อมกับถามว่า "Trick or Treat ?" เจ้าของบ้านมีสิทธิ์ที่จะตอบ Treat ด้วยการยอมแพ้ มอบขนมหวานให้ภูตผี (เด็ก) เหล่านั้น หรือเลือกตอบ Trick เพื่อท้าทายให้ภูตผีเหล่านั้นอาละวาด ซึ่งก็อาจเป็นอะไรก็ได้ ตั้งแต่แลบลิ้นปลิ้นตาหลอกหลอน ไปจนถึงขั้นทำลายข้าวของเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วอาจจบลงด้วยการ Treat เด็ก ๆ ด้วยขนมในที่สุด

เหตุผลที่ต้องเป็นโคมฟักทอง

อีกองค์ประกอบสำคัญที่จะขาดไม่ได้เลยสำหรับเทศกาลฮาโลวีน คือ การประดับประดาแสงไฟ และการแกะสลักฟักทองเป็นโคมไฟ เจาะทำตา จมูก และปากที่แสยะยิ้ม เรียกว่า แจ๊ก-โอ'-แลนเทิร์น (jack-o'-lantern)

ตำนานที่เกี่ยวกับฟักทองฮาโลวีนนั้น เป็นตำนานพื้นบ้านของชาวไอริช กล่าวถึง นายแจ๊กจอมตืด เป็นขี้เมาประจำหมู่บ้าน วันหนึ่งเขาหลอกล่อปีศาจขึ้นไปบนต้นไม้และเขียนกากบาทไว้ที่โคนต้นไม้ ทำให้ปีศาจลงมาไม่ได้ จากนั้นเขาได้ทำข้อตกลงกับปีศาจ "ห้ามนำสิ่งไม่ดีมาหลอกล่อเขาอีก" แล้วเขาจะปล่อยปีศาจลงจากต้นไม้ เมื่อแจ๊กตาย เขาปฏิเสธที่จะขึ้นสวรรค์ เพราะเขามีความคิดไปในทางของความชั่วร้าย ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธที่จะลงนรก เพราะเขาได้ทำข้อตกลงกับปีศาจเอาไว้ ปีศาจจึงให้ถ่านที่กำลังคุแก่เขา เพื่อให้เขาใช้นำทางไปในทางที่มืดมิด และหนาวเย็น และแจ๊กได้นำถ่านนี้ใส่ไว้ในหัวผักกาดเทอร์นิปที่ถูกเจาะให้กลวง เพื่อให้ไฟลุกโชติช่วงได้นานขึ้น

ชาวไอริชจึงแกะสลักหัวผักกาด และใส่ไฟไว้ด้านใน อันเป็นอีกสัญลักษณ์ของวันฮาโลวีน เพื่อระลึกถึง "การหยุดยั้งความชั่ว" และเพื่อส่งผลบุญให้กับญาติผู้ล่วงลับ แต่เมื่อมีการฉลองฮาโลวีนในสหรัฐอเมริกา ชาวอเมริกันพบว่าฟักทองหาง่ายกว่าหัวผักกาดมาก จึงเปลี่ยนมาใช้ฟักทองแทน

อย่าลืมป้องกันโควิด-19 กันด้วยนะ

อย่างไรก็ตาม ตำนานและเรื่องเล่าเกี่ยวกับฮาโลวีนนั้น อาจจะมีแตกต่างหรือผิดแผกในรายละเอียดกันออกไปบ้าง แต่โดยเนื้อหาแล้วนี่คือเทศกาลแห่งการหยุดยั้งความชั่วร้าย รำลึกถึงผู้ล่วงลับ และเพิ่มบุญต้อนรับปีใหม่และฤดูกาลใหม่ที่กำลังจะมาถึง

ส่งท้ายสำหรับฮาโลวีนปีนี้ การร่วมกิจกรรมใด ๆ และในสถานที่ใดก็ตาม ควรคำนึงถึงหลักความปลอดภัยเป็นสำคัญ