“SDGs อาชีพแห่งอนาคต”โอกาสทองของคนที่มองเห็น หายนะของคนที่มองข้าม

06 ก.ค. 2564 | 11:48 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ค. 2564 | 19:35 น.
689

"SDGs" โอกาสทางอาชีพ สำหรับผู้มองเห็นและเข้าใจ เผย 17 เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ คือ เส้นทางการสร้างอาชีพใหม่ เพราะเป็นพื้นฐานของการแก้ปัญหาให้กับสังคมที่ทั่วโลกกำลังต้องการ เพื่อผลักดันองค์กรให้เติบโต และอยู่รอดสวนกระแสวิกฤต

ผศ.ดร.วีรณัฐ โรจนประภา วิศวกรออกแบบชีวิต, ผู้ก่อตั้งมูลนิธิบ้านอารีย์ และสมาคมบ้านปันรัก เปิดเผยว่า “SDGs อาชีพแห่งอนาคต” ถือเป็น Mega Trend ของโลกในขณะนี้ ใครที่สามารถมองหาช่องทาง คว้าโอกาสทองในการแก้ปัญหา ปิดช่องว่างให้ผู้คนได้ก่อน ย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงมาก เพราะปัญหานี้เป็น “ความต้องการแท้” ที่ประเทศสมาชิกทั่วโลกประสบและต้องการให้แก้ไข รวมถึงต้องช่วยกันผลักดันให้แล้วเสร็จ ซึ่งหากมองในมุมของการทำธุรกิจ ใครที่สามารถนำเสนองานขององค์กรตอบโจทย์ปัญหาเหล่านี้ ก็จะได้รับแรงสนับสนุนจากรัฐบาล ไปจนถึงนักลงทุนระดับโลก ที่ปัจจุบันจะพิจารณาสนับสนุนองค์กรจากคะแนน SDGs Score ด้วย

“SDGs อาชีพแห่งอนาคต”โอกาสทองของคนที่มองเห็น หายนะของคนที่มองข้าม

สำหรับ SDGs หรือ Sustainable Development Goals องค์การสหประชาชาติได้ทำการสำรวจและสรุปปัญหาระดับโลกออกมา เป็นแนวททางปฏิบัติมีทั้งสิ้น 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบไปด้วย 169 เป้าหมายย่อย (SDGs Targets) ที่มีความเป็นสากล เชื่อมโยงและส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดยสามารถจัดกลุ่ม SDGs ตามปัจจัยที่เชื่อมโยงกันใน 5 มิติ (5P) ได้แก่

  1. การพัฒนาคน (People) ให้ความสำคัญกับการขจัดปัญหาความยากจนและความหิวโหย และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
  2. สิ่งแวดล้อม (Planet) ให้ความสำคัญกับการปกป้อง ดูแล รักษาทรัพยากรธรรมชาติ ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ 
  3. เศรษฐกิจและความมั่งคั่ง (Prosperity) ส่งเสริมให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีความสอดคล้องกับธรรมชาติ 
  4. สันติภาพและความยุติธรรม (Peace) สร้างสังคมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ สงบสุข ไม่มีการแบ่งแยก
  5. ความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อน 

เป้าหมายทั้ง 17 เป้าหมาย ประกอบด้วย

เป้าหมายที่  1: ขจัดความยากจน

เป้าหมายที่ 2:  ขจัดความหิวโหย สร้างความมั่นคงทางอาหาร และส่งเสริมให้คนทุกวัยมีโภชนาการที่เหมาะสม

เป้าหมายที่  3: สร้างหลักประกันด้านสุขภาพ สุขภาวะที่ดี และส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย

เป้าหมายที่ 4: ส่งเสริมให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต

เป้าหมายที่ 5: ส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรีและเด็กหญิง

เป้าหมายที่ 6: สร้างหลักประกันในการจัดการน้ำและสุขอนามัยสำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน

เป้าหมายที่ 7: สร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ที่ยั่งยืนในราคาที่ย่อมเยา

เป้าหมายที่ 8: ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน

เป้าหมายที่ 9: สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม

เป้าหมายที่ 10: ลดความไม่เสมอภาคภายในประเทศและระหว่างประเทศ

เป้าหมายที่ 11: ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน

เป้าหมายที่ 12: ส่งเสริมรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

เป้าหมายที่ 13: มีกระบวนการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมและรวดเร็ว

เป้าหมายที่ 14: อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เป้าหมายที่ 15: ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ลดการกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

“SDGs อาชีพแห่งอนาคต”โอกาสทองของคนที่มองเห็น หายนะของคนที่มองข้าม

เป้าหมายที่ 16: ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรมและสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผลรับผิดชอบและครอบคลุมในทุกระดับ

เป้าหมายที่ 17: เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน
 

ผศ.ดร.วีรณัฐ ยังได้กล่าวเสริมในประเด็นการหาอาชีพนี้อีกว่า โดยส่วนตัวให้คำปรึกษากับบุคคลทั่วไปในการหาอาชีพจาก SDGs พบว่า คนจำนวนมาก มักนึกไม่ถึงในประเด็นปัญหาที่อยู่ใน 17 ข้อนั้นว่าเป็นปัญหาระดับโลก ทำให้ละเลยโอกาสงานนี้ไป จนเมื่อได้ศึกษาโดยเฉพาะเจาะลงลึกในรายละเอียดย่อยของแต่ละเป้าประสงค์ใน 17 ข้อ ซึ่งมีแยกย่อยไปอีกมาก ก็จะยิ่งทำให้เจองานที่ตนอยากทำและถนัดได้ง่าย 

อยากแนะนำทุกคนที่กำลังแสวงหาแนวทาง ลองศึกษา SDGs อย่างละเอียด เพราะ SDGs เป็นโอกาสทองในการทำธุรกิจ ซึ่งให้ช่องทางได้อย่างครบถ้วน ครอบคลุมแบบไม่ต้องลงทุนเสียเงินทำวิจัยด้วยตนเอง และหากสามารถใส่ความคิดสร้างสรรค์ ใส่นวัตกรรมลงไปในสินค้าและบริการควบคู่ลงไปด้วย ยิ่งทำให้ธุรกิจแข็งแกร่ง ปราศจากคู่แข่ง สามารถเรียกได้อย่างเต็มปาก ธุรกิจของเราจะเติบโตอย่างมั่นคง และยั่งยืนไปพร้อมกัน

"จากผลการศึกษาพบว่า นักศึกษาในวันนี้จำนวน 100 คน จะมีถึง 65 คน ที่ในอนาคตจะต้องประกอบอาชีพที่ยังไม่เคยมีในวันนี้ เพื่อแก้ปัญหาที่ยังไม่ปรากฏหรือเป็นปัญหาใหม่ที่อาจยังไม่ได้รับการแก้ไข นั่นหมายถึง หากใครสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ ความสามารถ ทักษะของตนหรือขององค์กร ให้สามารถแก้ไขปัญหา SDGs ได้ก่อน เท่ากับกำลังทำอาชีพแห่งอนาคต ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

สรุปได้ว่า “SDGs อาชีพแห่งอนาคต” คือ Mega Trend ที่จะเป็นโอกาสทองของคนที่มองเห็น แต่เป็นหายนะของคนที่มองข้าม” ใครที่คว้าโอกาสได้ย่อมประสบความสำเร็จ แต่ใครที่ละเลยย่อมถูกตัดโอกาสในการเติบโต ถูกตัดเงินสนับสนุนลงทุนจากภาครัฐและเอกชน และสุดท้ายจะล้มหายตายจากแวดวงธุรกิจในที่สุด SDGs ไม่ใช่เรื่องในระดับรัฐบาล เพราะ SDGs เป็นปัญหาระดับโลก ที่ทุกคนซึ่งเป็นพลเมืองโลกต้องร่วมมือกันทำจึงจะประสบความสำเร็จ ที่ทุกคนสามารถเริ่มต้นได้จากตัวเราเอง