จากคดีคนหายกลายเป็นคดีฆาตกรรมบิลลี่ ชื่อของ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ปรากฎขึ้นอีกครั้งหลังอัยการสูงสุดสั่งฟ้อง นายชัยวัฒน์ และพวก 4 คน "ข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน" กรณี "บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ" ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ที่หายตัวไป 8 ปี
ข้อหาที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องชัยวัฒน์และพวกรวม 4 คน
- ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และเพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแก่ตามที่ตนได้กระทำความผิดอื่น เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตนหรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนกระทำไว้
- ร่วมกันโดยมีอาวุธข่มขืนใจโดยให้ผู้อื่นกระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง
- ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายเป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยว ถูกกักขัง หรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตาย
- ร่วมกันทุจริตหรืออำพรางคดี กระทำการใดๆ แก่ศพหรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น ในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป
อัยการสั่งฟ้อง “ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร” หลังกลับมารับราชการเพียง 2 สัปดาห์
- 27 กรกฎาคม 2565 ศาลปกครองเพชรบุรีเพิ่งมีคำสั่งทุเลาบังคับคดีให้กลับเข้ารับราชการไว้ก่อน หลังถูกปลดออกจากราชการ คดีเผาทรัพย์สินชาวบ้านบางกลอย อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยให้กลับเข้ารับราชการไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ย้อนรอยคดีบิลลี่
- 17 เม.ย. 2557 บิลลี่ หายตัวไปที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นายชัยวัฒน์ ยอมรับว่าควบคุมตัวไว้ด้วยข้อหาครอบครองน้ำผึ้งป่าอย่างผิดกฎหมาย แต่ปล่อยตัวไปในวันเดียวกัน จากนั้นไม่มีใครพบบิลลี่อีกเลย ทำให้นางพิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ มึนอ ภรรยาของบิลลี่ร่วมกับเครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เดินเรื่องให้ติดตามการหายตัวไปของบิลลี่
- 19 เม.ย. 2557 มึนอ ภรรยาของบิลลี่พร้อมด้วยครอบครัวเข้าแจ้งความคนหายที่สภ.แก่งกระจาน
- 24 เม.ย. 2557 ภรรยายื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ พิเศษ 1/2557 เพื่อขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินและขอให้ปล่อยตัวนายบิลลี่จากการถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
- 17 ก.ค. 2557 ศาลชั้นต้นจังหวัดเพชรบุรี มีคำสั่งไต่สวนฉุกเฉิน ต่อมาศาลยกคำร้องของภรรยาบิลลี่ ระบุว่าหลักฐานไม่เพียงพอว่ามีการควบคุมตัวบิลลี่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
- 26 ก.พ. 2558 ศาลอุทธรณ์ ภาค 7 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เพราะการไต่สวนพยานทั้งนายชัยวัฒน์ และเจ้าหน้าที่อุทยาน 4 คน รวมถึงนักศึกษาฝึกงาน 2 คน ให้การสอดคล้องกันว่าปล่อยตัวนายบิลลี่ไปแล้ว และไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอในการพิสูจน์ว่าบิลลี่ถูกขังโดนไม่ชอบด้วยกฎหมาย
- 2 ก.ย. 2558 ศาลฎีกาพิพากษายกคำร้อง ชี้ว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่านายชัยวัฒน์กับพวกควบคุมตัวบิลลี่ไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยมิชอบด้วยกฎหมายในการออกหมายเรียกนายชัยวัฒน์และเจ้าหน้าที่มาไต่สวนโดยไม่ตรวจสอบมูลคำร้อง
- 28 มิ.ย. 2561 DSI เผยแพร่คำแถลงว่าคณะอนุกรรมการคดีพิเศษได้รับกรณีหายตัวของ “บิลลี่” เป็นคดีพิเศษ
- 26 เม.ย. 2562 DSI พบหลักฐานที่พื้นที่ใต้น้ำบริเวณสะพานแขวน เขื่อนแก่งกระจาน พบชิ้นส่วนกระดูก 2 ชิ้น ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร จำนวน 1 ถัง เหล็กเส้น จำนวน 2 เส้น ถ่านไม้ จำนวน 4 ชิ้น และเศษฝาถังน้ำมัน จากนั้น ได้ส่งให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ทำการตรวจพิสูจน์พบว่าวัตถุเป็นชิ้นส่วนกระดูกกะโหลกศีรษะข้างซ้ายของมนุษย์ มีรอยไหม้สีน้ำตาล ร่วมกับรอยแตกร้าว และการหดตัวของกระดูกจากการถูกความร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 200 - 300 องศาเซลเซียส
- 3 ก.ย. 2562 DSI แถลงข่าวว่ากระดูกตรวจพบสารพันธุกรรมตรงกับ โพเราะจี รักจงเจริญ มารดาของบิลลี่ จึงเชื่อว่า วัตถุดังกล่าวเป็นกระดูกของบิลลี่ ที่เสียชีวิตแล้วโดยไม่ทราบวิธีที่ทำให้ตาย แต่นำมาเผาทำลายเพื่ออำพรางคดี
- 11 พ.ย. 2562 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อนุมัติหมายจับนายชัยวัฒน์ และผู้เกี่ยวข้อง อีกสามคน ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ในฐานความผิด 6 ข้อ ฐานร่วมกันฆ่า ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นทำให้ปราศจากเสรีภาพและเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญ ว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่วมกันปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และร่วมกันอำพรางคดี กระทำการแก่ศพ เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผลในทางคดี
- มกราคม 2563 อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึงอธิบดีดีเอสไอ ส่งคืนสำนวนการสอบสวนจำนวน 17 แฟ้ม ในคดีที่ดีเอสไอมีความเห็นสั่งฟ้อง นายชัยวัฒน์ กับพวกรวม 4 คน ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และความผิดฐานอื่นๆ โดยพนักงานอัยการได้พิจารณาสำนวนคดีวแล้วมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 4 คน
- 12 ส.ค. 2563 ดีเอสไอพิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวน ทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร พยานวัตถุ และโดยเฉพาะพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ความเห็นผู้เชี่ยวชาญกับความเห็นของพนักงานอัยการที่ประกอบการออกคำสั่งไม่ฟ้องแล้ว เห็นว่ายังไม่สามารถเห็นพ้องด้วยกับคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการดังกล่าว จึงส่งความเห็น พร้อมสำนวนการสอบสวนไปยังอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาตามกฎหมายต่อไป