เปิดเบื้องลึก บอร์ด กสทช.ตั้ง คณะอนุกรรมการ 4 ชุด ลุยงานหินดีล “TRUE-DTAC”

28 เม.ย. 2565 | 05:27 น.
อัปเดตล่าสุด :28 เม.ย. 2565 | 06:26 น.
2.0 k

ไขข้อสงสัย บอร์ด กสทช.ชุดใหม่ ตั้งคณะอนุกรรมการ 4 ชุด ลุยงานหินดีลแสนล้าน “TRUE-DTAC” เพราะอะไร และ ทำไม อ่านที่นี่มีคำตอบ

แรงกระเพื่อมควบรวมค่ายมือถือระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC  ส่งผลให้คณะกรรมการ กิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช. ชุดใหม่ จำนวน 5 คน ประกอบด้วย

  • ศาสตราจารย์คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการ
  • พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ (ด้านกิจการกระจายเสียง)
  •  ศาสตราจารย์พิรงรอง รามสูต กรรมการ (ด้านกิจการโทรทัศน์)
  • นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กรรมการ (ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน)
  •  รองศาสตราจารย์ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ (ด้านอื่นๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. ( ด้านเศรษฐศาสตร์)

ต้องขยับท่าที เพราะหากเพิกเฉยโดนข้อครหาไม่ทำอะไรเลยเพราะสังคมตั้งคำถาม? อย่างต่อเนื่อง ไล่เรียงตั้งแต่  

  • สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI
  • บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS
  • กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างทรู กับ ดีแทค 
  • นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์
  •  สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) 

เป็นเพราะดีลแสนล้านที่หลายฝ่ายมองว่า “ผูกขาดธุรกิจ”

ตั้งคณะอนุกรรมการ 4 ชุดลุยงานหิน “TRUE-DTAC”

ล่าสุด ที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 9/2565 ซึ่งถือเป็นการประชุมครั้งแรกของ กสทช. ชุดใหม่ที่มีนายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ เป็นประธาน กสทช. โดยที่ประชุม ได้เห็นชอบแผนงาน (Road map) กรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)

 

คณะอนุกรรมการจำนวน 4 ชุด ทำหน้าที่เพื่อศึกษาและวิเคราะห์เรื่องดังกล่าวได้แก่

  • คณะอนุกรรมการฯ ด้านกฎหมาย
  • คณะอนุกรรมการฯ ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง
  • คณะอนุกรรมการฯ ด้านเทคโนโลยี
  • คณะอนุกรรมการฯ ด้านเศรษฐศาสตร์

 

ว่ากันว่า คณะอนุกรรมการฯ ด้านเทคโนโลยี มีรายชื่อของ พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ (ด้านกิจการกระจายเสียง) นั่งเป็นประธาน ส่วนคณะอนุกรรมการฯ ด้านเศรษฐศาสตร์ รองศาสตราจารย์ศุภัช ศุภชลาศัย นั่งเป็นประธาน ส่วนด้านกฎหมาย และ คุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง อยู่ระหว่างการทาบทามผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ

 

เบื้องลึกตั้งคณะอนุกรรมการ 4 ชุด

เหตุผลที่บอร์ด กสทช.ชุดใหม่ตั้งคณะอนุกรรมการด้วยกัน 4 ชุด เนื่องจากเป็นช่วงรอยต่อของบอร์ดชุดเก่า และ บอร์ดชุดใหม่ โดยก่อนหน้านี้มีการตั้งคณะอนุกรรมการเพียงชุดเดียว คือ ชุดคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย และ คณะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งที่ประชุมบอร์ดชุดเก่าไม่เห็นด้วยตั้งคณะกรรมการเพียงชุดเดียว หากรวมชุดแล้วคณะกรรมการแต่ละด้านไม่มีความเชี่ยวชาญ ที่ผ่านมามีประชุมร่วมกันเพียงหนึ่งถึงสองครั้งเท่านั้น 

 

นั้นจึงเป็นที่มาตั้งคณะอนุกรรมการ 4 ชุด ศึกษาแผนควบรวมธุรกิจระหว่าง "TRUE-DTAC"

 

 

คณะอนุกรรมการ กสทช. ควบรวม TRUE-DTAC

 

 

 

ผ่าโครงสร้างใหม่ “TRUE-DTAC”

สำหรับสูตรควบรวมธุรกิจ “TRUE-DTAC” ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีดังนี้

  • เมื่อพลิกประดูมติที่ประชุมคณะกรรมการของทั้ง TRUE-DTAC ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติแผนควบรวมธุรกิจระหว่างกัน โดยให้เข้าทำสัญญาควบรวมกิจการระหว่างกัน โดยในวันที่ 4 เมษายน 2565 เสนอแผนควบรวมให้ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 อนุมัติ 
  • สำหรับโครงสร้างแผนควบรวมธุรกิจของทั้งสองบริษัทฯที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีที่ปรึกษาทางการเงิน คือ บริษัท หลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ถูกมอบหมายให้ดูโครงสร้างแผนการเงินและโครงสร้างธุรกิจ ประโยชน์และผลกระทบที่ได้รับ

โครงสร้างเดิม TRUE

  • กลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด  ถือหุ้น 49.99%
  • Chaina Mobile ถือหุ้น 18%
  • ผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ  32.01%

โครงสร้างเดิม DTAC

  • TELENOR ASIA PTE LTD หรือ TnA  ถือหุ้น 46.71%
  • บริษัท ไทเทลโค โฮลดิงส์ จำกัด ถือหุ้น 18.33%
  • ผู้ถือหุ้นรายอื่น 34.96%

 โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ ดังนี้

  • บริษัทใหม่ (ยังไม่ตั้งชื่อ)
  • กลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ถือหุ้น 28.96%
  • TELENOR ASIA PTE LTD หรือ TnA  ถือหุ้น 19.64%
  • บริษัท ไทเทลโค โฮลดิงส์ จำกัด ถือหุ้น 7.71%
  • China Mobile ถือหุ้น 10.43%
  • ผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ถือหุ้น 33.24%

แม้ยังไม่ได้ตั้งชื่อบริษัทใหม่ว่าชื่ออะไรแต่มีกระแสข่าวออกมาว่า ชื่อบริษัทใหม่ คือ บริษัท ทรู ดีแทค จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE-D

 

 

โครงสร้าง TRUE-DTAC

 

รอลุ้นว่า คณะกรรมการบอร์ดชุดใหม่กล้าตัดสินใจขวางดีลแสนล้าน “TRUE-DTAC” สำเร็จหรือไม่ เพราะเรื่องนี้ถือว่าเป็นงานหินกันเลยทีเดียว.