เปิดอาณาจักรธุรกิจ “อีลอน มัสก์” หลังปิดดีลซื้อทวิตเตอร์

27 เม.ย. 2565 | 13:40 น.
อัปเดตล่าสุด :27 เม.ย. 2565 | 21:36 น.
2.0 k

เกิดเป็น "อีลอน มัสก์" มหาเศรษฐีนักธุรกิจที่ร่ำรวยที่สุดในโลก จะหยิบจับทำอะไรก็เป็นที่สนใจไปทุกย่างก้าว ล่าสุดทุ่ม 1.5 ล้านล้านบาทซื้อกิจการ “ทวิตเตอร์” แพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ยอดนิยมมาครอบครอง ยิ่งตอกย้ำว่า “มัสก์ทำได้ทุกอย่าง” และเขาจะใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงโลก

นายอีลอน มัสก์ (Elon Musk) เป็นอภิมหาเศรษฐีชาวอเมริกันอายุ 50 ปี ที่ ร่ำรวยที่สุดในโลก ความมั่งคั่งหรือทรัพย์สินที่ถือครองอยู่มีมูลค่ารวม 264,600 ล้านดอลลาร์ หรือราว 9 ล้านล้านบาทเมื่อต้นปีนี้ (จากข้อมูลของ The Bloomberg Billionaires Index ) เขาได้รับการยกย่องจากนิตยสารไทม์ให้เป็นบุคคลแห่งปี หรือ Person of the Year 2021 ในฐานะเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม เป็นตัวอย่างของคนร่ำรวย ที่นำเสนอทางออกสำหรับวิกฤติการดำรงอยู่ของมนุษย์และขับเคลื่อนสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

 

ล่าสุด มัสก์พูดถึงการตัดสินใจซื้อธุรกิจ “ทวิตเตอร์” ที่ทุ่มทุนไป 44,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1.5 ล้านล้านบาทว่า เขาไม่ได้สนใจเรื่องเงินๆ ทองๆ แม้แต่นิดเดียว ไม่ได้กังวลเรื่องผลประกอบการของทวิตเตอร์ด้วย สนใจแต่ว่าเขาอยากมีแพลตฟอร์มสาธารณะที่ “ไว้ใจได้สูงสุด” ครอบคลุมอย่างกว้างขวาง และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของความศิวิไลซ์

 

ถึงแม้ทวิตเตอร์จะมีขนาดเพียงแค่ 1 ใน 10 ของแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ที่ใหญ่กว่าอย่างเฟซบุ๊ก แต่ทวิตเตอร์ก็มีความสำคัญเกินขนาดมาก ในแง่บทบาทของมันที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงในโลก ทวิตเตอร์ถูกยกเครดิตเป็นสื่อหลักในการช่วยโหมกระพือการปฏิวัติในตะวันออกกลางที่เรียกว่า "อาหรับสปริง" และยังมีบทบาทในเหตุจู่โจมอาคารรัฐสภาสหรัฐเมื่อวันที่ 6 ม.ค.2564 ด้วย

เรามาดูกันว่า นอกจากน้องใหม่ล่าสุดอย่างทวิตเตอร์แล้ว อาณาจักรธุรกิจของ “อีลอน มัสก์” มีอะไรบ้าง ชื่อบริษัทอะไรและมีมูลค่ามากน้อยแค่ไหน เรารวบรวมมาไว้ให้ตรงนี้ ซึ่งครอบคลุมถึงธุรกิจที่เขาเคยบริหาร และปัจจุบันได้ขายออกไปแล้วด้วย สื่อต่างประเทศบางรายเรียก "อีลอน มัสก์" ว่า เป็นนักธุรกิจที่ดำเนินกิจการต่าง ๆ ครอบคลุมทุกกิจกรรมการใช้ชีวิตของมนุษยชาติ ตั้งแต่ธุรกิจสตาร์ทอัพเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต ไปจนถึงพลังงานหมุนเวียน และปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เรามาดูกันว่ามีอะไรบ้าง (มูลค่าตลาดเป็นข้อมูล ณ เดือนม.ค. 2565)

เปิดอาณาจักรธุรกิจของอีลอน มัสก์

1. เทสลา (TESLA)

ประเภทธุรกิจ : ยานยนต์ไฟฟ้า (EV)

มูลค่าตลาด : 1.02 ล้านล้านดอลลาร์

 

2. สเปซเอ็กซ์ (SPACEX)

ประเภทธุรกิจ : อวกาศ

มูลค่าตลาด : 100,000 ล้านดอลลาร์

 

3. โซลาร์ซิตี (SOLARCITY)

ประเภทธุรกิจ : พลังงานหมุนเวียน

มูลค่าตลาด : เทสลาซื้อกิจการโซลาร์ซิตีมาด้วยมูลค่า 2,600 ล้านดอลลาร์

4. เพย์พาล (PAYPAL) (ขายกิจการไปแล้ว)

ประเภทธุรกิจ : ชำระเงินออนไลน์

มูลค่าตลาด : ขายกิจการให้อีเบย์ (EBAY) ไปในมูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์

 

5. เดอะ บอริง (THE BORING CO.)

ประเภทธุรกิจ : ก่อสร้างอุโมงค์

มูลค่าตลาด : 920 ล้านดอลลาร์

 

6. นิวรัลลิงค์ (NEURALINK)

ประเภทธุรกิจ : ประสาทเทคโนโลยี

มูลค่าตลาด : มากกว่า 500 ล้านดอลลาร์

 

7. ซิปทู (ZIP2) (ขายกิจการไปแล้ว)

ประเภทธุรกิจ : ไดเร็กทอรีธุรกิจออนไลน์

มูลค่าตลาด : ขายกิจการให้ HP ไปในมูลค่า 307 ล้านดอลลาร์

 

8. โอเพน เอไอ (OPEN AI)

ประเภทธุรกิจ : วิจัยปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)

มูลค่าตลาด : ไม่มีข้อมูล

 

ดูอันดับความร่ำรวยของอีลอน มัสก์ในทำเนียบเศรษฐี The Bloomberg Billionaires Index คลิก ที่นี่

ดูอันดับความร่ำรวยของอีลอน มัสก์ในทำเนียบเศรษฐี Forbes The Richest People In The World คลิกที่นี่

 

สำหรับ “ทวิตเตอร์” มัสก์ยื่นขอซื้อบริษัทด้วยข้อเสนอ 54.20 ดอลลาร์ต่อหุ้น ภายหลังจากที่มีข่าวมัสก์ตกลงซื้อกิจการได้สำเร็จเมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา หุ้นของทวิตเตอร์ปรับขึ้น 5.77% ไปปิดที่ 51.70 ดอลลาร์ แต่กระนั้นยังคงต่ำกว่าระดับ 70 ดอลลาร์ ที่ซื้อขายกันเมื่อปีที่แล้ว

 

“เสรีภาพในการพูดเป็นรากฐานสำคัญของประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ และทวิตเตอร์ก็เป็นเหมือนจัตุรัสแห่งเมืองดิจิทัลที่มีไว้ให้ผู้คนได้ถกเถียงประเด็นสำคัญเกี่ยวกับอนาคตของมนุษยชาติ” มัสก์ระบุในแถลงการณ์ซื้อกิจการ

 

ความเคลื่อนไหวของอีลอน มัสก์ ครั้งนี้ ถือเป็นการสานต่อธรรมเนียมปฏิบัติของบรรดาอภิมหาเศรษฐีทั้งหลาย ที่ยอมทุ่มเงินเข้าซื้อเพื่อจะได้ “ครอบครอง” และ “ควบคุม” แพลตฟอร์มสื่อทรงอิทธิพลในด้านต่างๆ เช่น การเข้าซื้อสื่อใหญ่ “นิวยอร์กโพสต์” และ “วอลล์สตรีท เจอร์นัล” ของนายรูเพิร์ต เมอร์ด็อค ในปี 2519 และปี 2550 ตามลำดับ รวมทั้งการซื้อ “วอชิงตันโพสต์” ของนายเจฟฟ์ เบซอส มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งยักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซแอมะซอนในปี 2556