ผ่าโครงสร้างใหม่ผู้ถือหุ้น“ไทยแอร์เอเชีย”หลังเพิ่มทุน1.4 หมื่นล้าน

16 พ.ย. 2564 | 15:11 น.
อัปเดตล่าสุด :17 พ.ย. 2564 | 21:11 น.
6.0 k

การประชุมผู้ถือหุ้น AAV ในวันที่ 26 พ.ย. 2564 ซึ่งจะมีวาระขออนุมัติผู้ถือหุ้น ถึงการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ของสายการบิน “ไทยแอร์เอเชีย” ตามแผนเพิ่มทุน 14,000 ล้านบาท ที่จะเป็นการพลิกโฉมการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ เพื่อฝ่าโควิด-19

การประชุมผู้ถือหุ้น บริษัท แอร์เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ในวันที่ 26 พฤจิกายน2564  ซึ่งจะมีวาระขออนุมัติผู้ถือหุ้น ถึงแผน การปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ของสายการบิน “ไทยแอร์เอเชีย” ตามแผนเพิ่มทุน 14,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องประคองตัวให้อยู่รอด ระหว่างรอให้สถานการณ์โควิดคลี่คลายและกลับมาบินได้100%อีกครั้งในปี2566 เหมือนช่วงก่อนเกิดโควิด-19

 

การปรับโครงสร้างกิจการใหม่ที่จะเกิดขึ้น AAV ได้ล้มแผนเดิมที่จะดัน บริษัทไทยแอร์เอเชีย จำกัด (TTA)เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) แทน AAV แต่หันมาใช้วิธีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใน AAV  ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่แล้วในตลท. ด้วยการเพิ่มทุนกว่า 14,000 ล้านบาท ผ่านการออกหุ้นกู้แปลงสภาพและหุ้นเพิ่มทุนใหม่ให้แก่ทั้งผู้ถือหุ้นรายใหม่และผู้ถือหุ้นปัจจุบัน เพื่อซื้อหุ้นไทยแอร์เอเชียทั้งหมด



แอร์เอเชีย

โดยการระดมทุน 14,000 ล้านบาท  จะมีการดำเนินการใน 3 ส่วน ได้แก่

 

1.เพิ่มทุนจดทะเบียนและเสนอขายหุ้นให้นักลงทุนรายใหม่มูลค่าไม่เกิน 8,800 ล้านบาท ประกอบไปด้วยการเสนอขายแก่

  • AirAsia Aviation Limited (“AAA”) มูลค่า 7,800 ล้านบาท
  • นักลงทุนบุคคลธรรมดา จำนวน 6 ราย คือ นายพิธาน องค์โฆษิต ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน),นายปรินทร์ โลจนะโกสินทร์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท แพลนบี มีเดีย จำกัด (มหาชน) ,นายบัณฑิต พิทักษ์สิทธิ์ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท อีซูซุ สงวนไทย,นางปิยะพร วิชิตพันธุ์ผู้บริหารบริษัทในเครือเซ็นทรัล ,นายสุวพล สุวรุจิพร กรรมการและ ผู้บริหารของบริษัท กรุงเทพ ชินธิติกส์ จำกัด,นายวรพจน์ อำนวยพล ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท สกายไอซีที จำกัด (มหาชน) มูลค่า 1,000 ล้านบาท มูลค่า 1,000 ล้านบาท โดยการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนไม่เกิน 5,028,571,429 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.10 บาท 
     

2.การออกและเสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพมูลค่ารวม 2,200 ล้านบาท ให้แก่ผู้ลงทุนจำนวน 2 ราย มีอายุหุ้นกู้แปลงสภาพไม่เกิน 2 ปี โดยเสนอขายให้ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มูลค่า 1,200 ล้านบาท และ North Haven Thai Private Equity, L.P. มูลค่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถเเปลงเป็นหุ้นสามัญรวมจำนวนไม่เกิน 1,257,142,857 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.10 บาท ทั้งนี้ นักลงทุนดังกล่าว ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของ AAV ในระยะยาว และพร้อมจะให้การสนับสนุนด้านเงินทุนเพิ่มเติมในอนาคตแก่ AAV

 

3.การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 1,714,285,714 หุ้น ให้กับผู้ถือหุ้นรายเดิมตามสัดส่วนจำนวนหุ้นที่แต่ละรายถืออยู่ (Rights Offering) โดยมีอัตราส่วนการจัดสรรหุ้น 5.7625 หุ้นสามัญเดิมต่อ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุน ในราคาหุ้นละ 1.75 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็นมูลค่า 3,000 ล้านบาท

 

สันติสุข คล่องใช้ยา

 

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า หลังการประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่26พ.ย.นี้ สายการบินจะขออนุมัติการปรับโครงสร้าง โดยเราจะไม่นำบริษัทไทยแอร์เอเชีย จำกัด (TAA) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แทนบริษัทแอร์เอเชียเอวิเอชั่นจำกัด (มหาชน)หรือAAV แล้ว แต่เลือกที่จะปรับโครงสร้างในAAV ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว โดยเพิ่มทุนเข้าไป100% ซึ่งจะทำให้เราได้เงินเร็วและซับซ้อนน้อยกว่าแผนเดิมโดยคาดว่าจะได้เงินเข้ามาก้อนแรก 1.1 หมื่นล้านบาทในเดือนธันวาคม2564และอีก 3 พันล้านบาทในเดือนมกราคม2565

 

ดังนั้นจากปัจจุบันที่ TAA มี AAV ถือหุ้นอยู่ 55% และ แอร์เอเชีย มาเลเซีย ที่เพิ่งจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น AirAsia Aviation Limited (“AAA”) ถืออยู่ 45%

 

โครงสร้างปัจจุบันไทยแอร์เอเชีย

 

แต่หลังจากปรับโครงสร้างใหม่ TAA ก็จะมี AAV เป็นผู้ถือหุ้น100% โดยAAA ของมาเลเซีย จะถือหุ้น 40.7% (ลดลงเล็กน้อยจากที่ถืออยู่ 45%) อื่นๆ 26.3% นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ 18% (ลดลงจากที่ถืออยู่เดิม40.5%) ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) 5.3% North Haven Thai Private Equity, L.P. 4.5% นักลงทุนบุคคลธรรมดา 5.2%

 

โครงสร้างใหม่ผู้ถือหุ้นAAV หลังเพิ่มทุน

 

การเพิ่มทุนในครั้งนี้จะส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นประมาณ 14,000 ล้านบาท (ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทฯ มีส่วนของผู้ถือหุ้นเท่ากับ 10,820 ล้านบาท) รวมถึงบริษัทฯ คาดว่าจะนำเงินส่วนที่เหลือจากภายหลังการปรับโครงสร้างการถือหุ้นไปเพิ่มทุนในไทยแอร์เอเชียเป็นมูลค่าประมาณ 6,200 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของไทยแอร์เอเชียเพิ่มขึ้น (ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 ไทยแอร์เอเชียมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ (ขาดทุนเกินทุน)เท่ากับ 9,722 ล้านบาท)

 

สำหรับเงินที่ได้รับจากการเพิ่มทุน AAV จะใช้ชำระคืนหนี้เงินกู้ที่มีต่อสถาบันการเงิน3,900ล้านบาทซึ่งได้กู้ยืมเงินมาเพื่อเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่ออกใหม่ของไทยแอร์เอเชีย ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของAAV ในไทยแอร์เอเชียเพิ่มขึ้นจากเดิม55% เป็น69.2% และใช้ซื้อหุ้นไทยแอร์เอเชียที่เหลือทั้งหมดอีก30.8%ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของไทยแอร์เอเชียราว 3,900 ล้านบาท และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของสายการบิน

 

เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาไทยแอร์เอเชียก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะมาตรการห้ามทำการบินในประเทศเมื่อรอบล็อกดาวน์ก่อนหน้านี้ ซึ่งผลการดำเนินการในช่วง9เดือนแรกของปี64 ขาดทุน10,248 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนอยู่6,641 ล้านบาท ซึ่งก็เป็นสิ่งที่คาดการณ์ไว้อยู่แล้ว เพราะยังไม่สามารถกลับมาเปิดบินได้เหมือนอดีต แต่ไทยแอร์เอเชีย ก็เดินแผนรับมือในเรื่องของการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ เพื่อเพิ่มทุน 1.4 หมื่นล้านบาท ที่จะนำมาใช้เป็นกระแสเงิน ระหว่างรอธุรกิจเริ่มฟื้นตัวในปีหน้า โดยไทยแอร์เอเชียและกลับมาบินได้เต็มที่ในปี66เหมือนช่วงก่อนเกิดโควิด

 

ทั้งนี้ไทยแอร์เอเชียคาดการณ์ธุรกิจในปี2565ว่าจะไม่แย่กว่าปี64 โดยคาดว่าเส้นทางบินภายในประเทศจะกลับบินได้ 100% ตั้งแต่ต้นปี จากปัจจุบันหลังการคลายล็อกดาวน์ให้กลับมาเปิดบินในประเทศได้ในช่วงต.ค.64กลับมาบินได้20% ใช้เครื่องบิน 10 วัน วันละ40-50เที่ยวบิน เดือนพ.ย.64 บินได้40% ใช้เครื่องบิน20ลำ ราว 100 เที่ยวบินต่อวัน เดือนธ.ค.64 บินได้70-80% น่าใช้เครื่องบินได้30 ลำ เกือบ 200 เที่ยวบิน

 

ส่วนเส้นทางบินต่างประเทศไทยแอร์เอเชีย จะกลับมาบินมัลดีฟส์ในวันที่ 22 ธ.ค.64 เป็นเส้นทางบินระหว่างประเทศสายแรก หลังไม่ได้บินมาเกือบ2ปี และคาดว่าไตรมาสแรกปีหน้าจะกลับมาบินต่างประเทศได้ อย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ฮ่องกง อินเดีย ซึ่งต้องมองหาประเทศที่เปิดการท่องเที่ยวเหมือนกับไทย เพราะวันนี้แม้ไทยจะเปิดประเทศ ที่ก็มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา แต่หลายประเทศยังไม่เปิด เมื่อคนไทยเดินทางออกไปก็จะต้องถูกกักตัว ทำให้เมื่อมีแต่ผู้โดยสารขาเข้าแต่ขาออกไม่มี สายการบินก็จะยังไม่สามารถเปิดบินได้มากเหมือนในอดีต ส่วนไตรมาส2 หวังว่าจะเปิดบินจีนได้ ไตรมาส 3 จะเปิดเพิ่มได้อีกที่ญี่ปุ่นบางเมืองและจนถึงไตรมาส4 น่าจะบินเพิ่มได้สัก 60-70% และปี66 น่าจะกลับมาบินได้ 100% ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

 

ดังนั้นกว่าไทยแอร์เอเชียจะกลับมาบินได้เหมือนเดิม100% การตุนเงิน1.4หมื่นล้านบาทจึงเป็นทางรอดในการฝ่าวิกฤตที่เกิดขึ้น