แอร์เอเชียไตรมาส3ปี64ขาดทุนอ่วมมั่นใจแผนเพิ่มทุน1.4หมื่นล้านช่วยกู้ชีพ

12 พ.ย. 2564 | 18:17 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ย. 2564 | 04:16 น.

แอร์เอเชีย ประกาศผลประกอบการAAVไตรมาส 3/2564 ขาดทุนอ่วม จากนโยบายระงับบิน ควบคุมโควิด-19 มั่นใจเเผนเพิ่มทุน 1.4 หมื่นล้านบาท ช่วยเพิ่มสภาพคล่องไทยแอร์เอเชียให้บริการต่อเนื่องรับเส้นทางระหว่างประเทศ

วันนี้(12 พฤศจิกายน 2564) เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ผู้ถือหุ้นใหญ่ บจ. ไทยแอร์เอเชีย (TAA) เผยผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2564 มีรายได้รวม 457 ล้านบาท และผลขาดทุนอยู่ที่ 2,098 ล้านบาท ในขณะที่ผลการดำเนินงานก่อนค่าใช้จ่ายทางการเงิน ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23  

 

แม้ว่าได้รับผลกระทบหลักจากความจำเป็นในการระงับให้บริการเส้นทางภายในประเทศชั่วคราว ตั้งเเต่วันที่ 12 กรกฎาคม- 2 กันยายน 2564 เพื่อสนับสนุนความพยายามในการควบคุมการเเพร่ระบาดของโควิด-19 ตามนโยบายรัฐ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายโดยรวมลดลงตามปริมาณเที่ยวบิน หากไม่รวมผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนในไตรมาส 

อย่างไรก็ตาม หลังกลับมาให้บริการอีกครั้งในวันที่ 3 กันยายน 2564 ตามมาตรฐานสุขอนามัยและมาตรการคัดกรองผู้โดยสารสูงสุด มีความต้องการเดินทางที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสายการบินสามารถเพิ่มเที่ยวบินและความถี่ได้ต่อเนื่อง โดยฝ่ายบริหารได้กำหนดกลยุทธ์บริหารจัดการต้นทุนอย่างเข้มงวด ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และเพิ่มศักยภาพในการสร้างรายได้สูงสุด

 

ไทยแอร์เอเชีย

 

สำหรับไตรมาส 3 ปี 2564 TAA ขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 79,767 คน ลดลงร้อยละ 96 สอดคล้องกับปริมาณที่นั่งที่ลดลงร้อยละ 95 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีอัตราขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ร้อยละ 60 และมีฝูงบินรวม 60 ลำ ณ สิ้นสุดไตรมาส 

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น และ บจ.ไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ถือเป็นช่วงการระบาดหนักที่สุดของโควิด-19 ในประเทศไทย สืบเนื่องตั้งเเต่การเเพร่ระบาดระลอกที่ 3 ในเดือนเมษายน 2564 งผลกระทบตรงต่อผลประกอบการของบริษัท โดยบริษัทได้ปรับตัวทุกวิถีทาง ทั้งการบริหารจัดการต้นทุน นำนวัตกรรมมาปรับใช้เพื่อหาโอกาสสร้างรายได้ใหม่ๆ โดยเฉพาะการเปิดตัว airasia food ในเดือนสิงหาคม 2564 การพัฒนา airasia Super App เพื่อตอบโจทย์ทุกสไตล์ และยกระดับให้แอร์เอเชียเป็นมากกว่าสายการบิน พร้อมเข้าถึงฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น การพัฒนาขนส่งด้านคาร์โก้ผ่านเทเลพอร์ต เป็นต้น 

 

“เชื่อมั่นว่า ไตรมาส 4 ปีนี้เป็นต้นไป จะเป็นช่วงฟื้นตัวของธุรกิจสายการบิน เเละอุตสาหกรรรมท่องเที่ยวในภาพรวม เห็นได้จากการเดินทางภายในประเทศที่มีผลตอบรับดีต่อเนื่อง แคมเปญสนับสนุนการท่องเที่ยวจากภาครัฐ แผนการได้รับวัคซีนที่ครอบคลุมขึ้น นโยบายเริ่มเปิดประเทศตั้งเเต่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นมา 

 

รวมทั้งแผนการปรับโครงสร้างกิจการและระดมทุนใหม่กว่า 14,000 ล้านบาท ของบริษัท ที่คืบหน้าผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทเรียบร้อยเเล้ว คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาส 1 ปี 2565 ซึ่งทำให้บริษัทมีสภาพคล่องเเละความพร้อมเต็มที่ในการเเข่งขัน รับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับเข้ามา” นายสันติสุขกล่าว 

 

ทั้งนี้ไทยแอร์เอเชียยังคงให้ความสำคัญสูงสุดกับมาตรฐานด้านความปลอดภัย เเละมาตรการด้านสุขอนามัยในการให้บริการอย่างเต็มที่ นอกจากนี้เเม้ในสถานการณ์อันยากลำบาก เรายังรักษาคุณภาพและความเชื่อมั่นในเเบรนด์เเอร์เอเชียอย่างดี โดยเฉพาะการได้รับ “รางวัลสายการบินราคาประหยัดที่ดีที่สุดในโลก” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 12 จากสกายเเทรกซ์ “รางวัลสุดยอดธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วนนวัตกรรม” จาก FlightGlobal 

 

“รางวัลสายการบินราคาประหยัดชั้นนำของเอเชียต่อเนื่องเป็นปีที่ 9” และ “รางวัลชนะเลิศพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินสายการบินราคาประหยัด เป็นปีที่ 6” ในงาน World Travel Awards 2021 “รางวัลสายการบินราคาประหยัดที่ดีที่สุด” จาก Business Traveller Asia-Pacific และความภูมิใจของ AAV กับการได้รับคัดเลือกเป็น “หุ้นยั่งยืน THSI” ประจำปี 2564 โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3

 

“ไทยแอร์เอเชียพร้อมเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว เราปรับตัวและสร้างโอกาสใหม่ได้แม้ในภาวะวิกฤตที่ยากลำบาก เมื่อตลาดท่องเที่ยวเดินทางเปิดเต็มที่อีกครั้ง เราจะเป็นผู้นำตลาดที่เเข็งเเกร่งที่สุดเเน่นอน” นายสันติสุขกล่าว