ผู้นำโลกร่วมประชุม COP26 ปักหมุดแนวทางแก้ปัญหาโลกร้อน 1-2 พ.ย.นี้  

01 พ.ย. 2564 | 13:19 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ย. 2564 | 20:00 น.
947

การประชุม COP26 ที่สกอตแลนด์จะเปิดฉากขึ้นแล้วในวันนี้ (1 พ.ย.) โดยมีผู้แทนจากเกือบๆ 200 ประเทศเข้าร่วมการประชุม พร้อมทั้งประกาศนโยบายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงภายในปี 2573 ขณะที่นายกฯ เตรียมนำเสนอยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย

นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ในฐานะเจ้าภาพจัด การประชุม COP26 หรือ การประชุมสุดยอดรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP: COP 26) ระหว่างวันที่ 1-2 พ.ย.นี้ ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ในเครือสหราชอาณาจักร กล่าววานนี้ (31 ต.ค.) ว่า การประชุมสุดยอดครั้งนี้ถือเป็น “วาระแห่งความเป็นจริงของโลก” ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการใด ๆ ประชากรรุ่นต่อไป ก็จะได้รับผลกระทบที่จะตามมา

 

ภายหลังจากที่บรรดาผู้นำประเทศชั้นนำระดับโลกเข้าร่วมการประชุม G20 ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี เรียบร้อยลงแล้ว (30-31 ต.ค.) จุดหมายปลายทางต่อไปของบรรดาผู้นำเหล่านี้ รวมทั้งจากอีกหลายประเทศทั่วโลก ก็มุ่งหน้าสู่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ เพื่อเข้าร่วมการประชุม COP26

 

อุณหภูมิของโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทำให้บรรดานักวิทยาศาสตร์ต้องออกมาเตือนบรรดาผู้นำรัฐบาลต่าง ๆทั่วโลกให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อหลีกเลี่ยงความหายนะด้านภูมิอากาศ

ผู้นำโลกร่วมประชุม COP26 ปักหมุดแนวทางแก้ปัญหาโลกร้อน 1-2 พ.ย.นี้  

กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) กำหนดเป้าหมายร่วมกันคือ เพื่อรักษาระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศไม่ให้เกินระดับที่จะเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งมีชีวิตและความมั่นคงทางอาหาร ทุกประเทศต้องร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกันตามขีดความสามารถที่แต่ละประเทศจะทำได้ และได้จัดให้มีการประชุมสมัชชารัฐภาคีฯ ที่เรียกว่า Conference Of the Parties (COP) เป็นประจำทุกปีนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 จนถึงปัจจุบัน

 

ภายใต้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ของ UNFCCC ซึ่งเกิดขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศสในปี 2558 นานาประเทศสมาชิกได้ตกลงในเป้าหมายคือการทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเพียง 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี พ.ศ. 2643 หรืออีกราว ๆ 80 ปีข้างหน้า แต่ปัจจุบันอุณหภูมิโลกกลับมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น 2.7 องศาสเซลเซียสแล้ว ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะก่อให้เกิดหายนะด้านสภาพภูมิอากาศตามมา แต่ก็ยังคงมีความหวังว่า หลาย ๆ ประเทศจะแสดงความมุ่งมั่นในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซโลกร้อนให้ได้ในอัตราสูงสุดเร็วขึ้น คือภายในปีพ.ศ. 2573 ในการประชุมสุดยอดครั้งนี้

 

สภาพภูมิอากาศรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงขณะนี้ มีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อนสูง น้ำท่วมฉับพลันและรุนแรง การเกิดพายุ รวมทั้งการเกิดไฟป่า ที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากไม่มีมาตรการเชิงป้องกันและรับมือที่จริงจัง ก็จะทำให้โลกต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายมากยิ่งขึ้น

ผู้นำโลกร่วมประชุม COP26 ปักหมุดแนวทางแก้ปัญหาโลกร้อน 1-2 พ.ย.นี้  

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานความคืบหน้าว่า ครั้งนี้จะมีผู้เข้าร่วมประชุม COP26 ประมาณ 25,000 คน โดยประเด็นที่จะมีการหารือนั้นเกี่ยวข้องกับครอบคลุมแทบทุกภาคส่วนเนื่องจากเป็นวาระสำคัญระดับโลก

 

ขณะที่เป้าหมายร่วม คือการพยายามทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเพียง 1.5 องศาเซลเซียสภายในปีพ.ศ. 2643 (ค.ศ. 2100) หรือคุมไว้ไม่ให้เพิ่มเกิน 2 องศา แต่ก็มีหลายประเทศที่เร่งทำในส่วนของตัวเอง และมีการกำหนดประกาศปี Net Zero หรือปีที่เป็นเส้นตายจะไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกหรือปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาเป็นศูนย์ (0) เรียบร้อยแล้ว เช่น อังกฤษ เจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด COP26 ปีนี้ ตั้งเป้าหมายปี Net Zero ไว้แล้วที่ปี ค.ศ. 2050 หรือ พ.ศ. 2593 ขณะที่บางประเทศก็มีแผนจะประกาศเป้าหมาย Net Zero ของตัวเองในการประชุมครั้งนี้

 

อีกประเด็นที่สำคัญ คือการเรียกร้องให้นานาประเทศร่วมภาคีที่เป็นประเทศร่ำรวย ให้ความจริงจังมุ่งมั่นเกี่ยวกับจำนวนเงินสนับสนุนมาตรการแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศกำลังพัฒนา ตามที่ตกลงไว้ที่ปีละ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งข้อเท็จจริงที่พบก็คือ หลายประเทศไม่ได้ให้เงินสนับสนุนตามที่ได้รับปากไว้ 

 

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเกี่ยวกับช่องโหว่ใน ตลาด Carbon Market ซึ่งทำให้คนรวย หรือประเทศร่ำรวยมีความได้เปรียบและเอาเปรียบ คือไม่ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยตัวเอง แต่หันใช้วิธีซื้อสิทธิ์แทน นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเห็นว่า การซื้อสิทธิ์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น อาจจะยังเป็นเรื่องจำเป็น เพราะหากไม่มีเลย ก็อาจจะไม่มีแรงจูงใจ

 

และที่ขาดไม่ได้ คือประเด็นการยุติการทำลายป่าและลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล ซึ่งนั่นหมายถึงการเร่งกระบวนการปรับเปลี่ยนไปใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแทนการใช้น้ำมันปิโตรเลียม รวมทั้งการกระตุ้นให้มีการลงทุนมากขึ้นทั้งในฝั่งภาครัฐและเอกชนในการโครงการด้านพลังงานหมุนเวียน

ผู้นำโลกร่วมประชุม COP26 ปักหมุดแนวทางแก้ปัญหาโลกร้อน 1-2 พ.ย.นี้  

นายกฯ เตรียมเสนอแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย

หนึ่งในภารกิจสำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่เดินทางไปเข้าร่วมการประชุม COP26 คือ การนำเสนอเป้าหมายและการดำเนินงานอย่างแข็งขันในการจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาว เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย (LT-LEDS)

 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงเมื่อวันที่ 31 ต.ค.ว่า การดำเนินการของไทยในเรื่องนี้เป็นไปตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่เป็นกติการะหว่างประเทศในการร่วมกันแก้ไขปัญหาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก และมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดภายในปีพ.ศ. 2573 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์เร็วที่สุดภายในครึ่งปีหลังของศตวรรษนี้ ซึ่งไทยเป็น 1 ใน 3 ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เสนอยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกับสิงคโปร์และอินโดนีเซีย

 

ทั้งนี้ ไทยยังมีการดำเนินตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศในหลายๆ ส่วน อาทิ

  • การยกร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • การกำหนดเป้าหมายให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศจำนวน 15 ล้านคัน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของยานยนต์ทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2578
  • การปลูกต้นไม้ยืนต้นทั่วประเทศจำนวน 100 ล้านต้นภายในปี 2565 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาโดยใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (nature-based solutions)

 

โดยการดำเนินการดังกล่าว นอกจากจะเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม และประชาชนแล้ว ยังได้รับความร่วมมือจากมิตรประเทศสนับสนุนการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ อาทิ สหรัฐอเมริการ่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ส่งเสริมการบูรณาการพลังงานหมุนเวียนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในโครงข่ายไฟฟ้าของไทย เป็นต้น

 

ข้อมูลอ้างอิง