การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมาตรการทางเศรษฐศาสตร์

20 ต.ค. 2564 | 14:42 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ต.ค. 2564 | 21:42 น.

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.ขนิษฐา แต้มบุญเลิศชัย คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,724 หน้า 5 วันที่ 21 - 23 ตุลาคม 2564

ปลายเดือนตุลาคมนี้ สหราชอาณาจักรจะเป็นเจ้าภาพในการจัดประ ชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 หรือ COP26 ซึ่งเป็นเวทีที่ตัวแทนของประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะร่วมตกลงกันเรื่องแนวทางในการดำเนินการป้องกันและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change)

 

การประชุมครั้งนี้เป็นที่จับตามองอย่างมาก เนื่องจากปีที่ผ่านมีเกิดสภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศ (extreme weather events) ในหลายพื้นที่ทั่วโลก และในเดือนสิงหาคมปีนี้ คณะนักวิทยาศาสตร์ประจำคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) ได้ออกรายงานสรุปว่า สภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่ทั่วโลกเผชิญอยู่นี้เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ และผลกระทบหลายอย่าง เช่น ระดับนํ้าทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น จะคงอยู่กับเราไปนับแสนปี รายงานของ IPCC ยังระบุอีกว่าการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศส่งผลต่อทุกภูมิภาคทั่วโลก และจะทวีความรุนแรงขึ้นตามอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่ง  

 

หัวข้อสำคัญของการประชุมครั้งนี้ คือ การร่วมมือเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยสหราชอาณาจักรในฐานะเจ้าภาพการประชุมมุ่งหวังที่จะผลักดันให้ประเทศต่างๆ ร่วมกันกำหนดเป้าหมายเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกให้เป็นศูนย์ (Global Net Zero) ภายในปีค.ศ. 2050

 

เป้าหมายนี้ต้องอาศัยพยายามอย่างมากจากทุกประเทศและทุกภาคส่วน เพราะถึงแม้ว่าจะมีหลายประเทศ (รวมถึงประเทศไทย) ที่ได้ประกาศเป้าหมาย Net Zero แล้ว แต่การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจแบบ Net Zero นั้นจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งจากการกำหนดเป้าหมายและมาตรการจากภาครัฐ

 

การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตของภาคธุรกิจและการปรับพฤติกรรมของภาคประชาชนโดยแนวทางที่ได้รับการสนับ สนุนเป็นพิเศษ ได้แก่ การลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (โดยเฉพาะถ่านหิน) การเปลี่ยนผ่านสู่แหล่งพลังงานหมุนเวียน การป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า และการเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) 

 

อุปสรรคสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero เกิดจากต้นทุนของกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกตํ่าเกินไป และการปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจสู่เศรษฐกิจคาร์บอนตํ่ามีต้นทุนสูง 

 

ที่ผ่านมา กิจกรรมที่ปล่อยคาร์บอนมักไม่สะท้อนต้นทุนต่อสังคม และในหลายครั้งแหล่งพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนในปริมาณสูงยังได้รับการอุดหนุนราคาจากภาครัฐ เพราะคำนึงถึงผลต่อค่าครองชีพของประชาชน

 

ข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แสดงให้เห็นว่าประเทศส่วนมากมีราคาของกิจกรรมที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อนที่ตํ่ากว่าต้นทุนต่อสังคม ในภูมิภาคอาเซียนเองก็เช่นกันจากภาวการณ์ที่มีการ “อุดหนุน” ราคาทั้งทางตรงและทางอ้อมส่งผลให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเกินไป และเมื่อพลังงานสะอาดที่เอื้อต่อ Net Zero เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีต้นทุนสูง ส่วนต่างระหว่างราคาพลังงานทั้งสองชนิดก็จะส่งผลให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคยังคงเลือกใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไป  

 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมาตรการทางเศรษฐศาสตร์

 

 

ในบริบทนี้ มาตรการทางเศรษฐ ศาสตร์ที่มีบทบาทอย่างมากในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจแบบ Net Zero คือ การเพิ่มราคาของก๊าซคาร์บอนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ โดยมี 2 แนวทางหลักที่ใช้กันทั่วโลก ได้แก่ การเก็บภาษีคาร์บอน (carbon tax) และ การสร้างตลาดเพื่อซื้อขายคาร์บอน (carbon market)

 

ในภูมิภาคเอเชียมีการเก็บภาษีคาร์บอนในประเทศญี่ปุ่น และ สิงคโปร์ ในขณะที่ประเทศเกาหลี และ จีนเลือกที่จะใช้มาตรการตลาดคาร์บอน ส่วนประเทศไทยยังอยู่ระหว่างการเลือกรูปแบบการเพิ่มราคาคาร์บอน โดยมีการก่อตั้งตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจขึ้นและเริ่มทดสอบระบบตั้งแต่ปี 2558 ในขณะเดียวกันก็มีหน่วยงานที่ให้ความสนใจศึกษาเรื่องภาษีคาร์บอนด้วย

 

นอกจากนี้ หลายประเทศเริ่มแสดงท่าทีว่าจะมีการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามแดน (carbon border tax) สำหรับสินค้านำเข้าจากประเทศที่ไม่มีการคิดราคาคาร์บอน ดังนั้น การกำหนดแนวทางที่ชัดเจนต่อการเพิ่มราคาคาร์บอน จึงไม่เพียงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ไทยบรรลุเป้าหมาย Net Zero แต่ยังเป็นเรื่องจำเป็นต่อการสนับสนุนการส่งออกของไทยอีกด้วย

 

ทั้งนี้ การดำเนินการของไทยไม่จำเป็นต้องเลือกมาตรการใดมาตรการหนึ่ง เพราะในหลายประเทศก็มีการใช้สองมาตรการควบคู่กันไป เช่น ประเทศแคนาดา เม็กซิโก และหลายประเทศในยุโรป รวมถึงประเทศญี่ปุ่นที่มีการใช้ตลาดคาร์บอนในพื้นที่ไซตามะด้วย และการขึ้นราคาคาร์บอนไม่จำเป็นต้องให้สะท้อนต้นทุนต่อสังคมในคราวเดียวแต่อาจทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้ 

 

จากผลกระทบจากการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และจากการตื่นตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชนที่จะรวมตัวกันในงานประชุม COP26 ในปลายเดือนตุลาคมนี้ คงต้องจับตาดูต่อไปว่า ที่ประชุมจะสามารถสร้างประวัติศาสตร์โดยการตกลงมุ่งสู้เป้า Global Net Zero ด้วยกันได้หรือไม่

 

และในส่วนของเราชาวไทยเอง ก็คงต้องจับตาดูท่าทีของภาครัฐว่า จะมีแนวนโยบายอย่างไรในการเพิ่มราคาคาร์บอนและในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนตํ่าอย่างยั่งยืน

 

นอก จากนี้เราคงต้องจับตาดูทีท่าของภาคการเงิน และภาคธุรกิจว่าจะมีแนวทางสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นสังคมคาร์บอนตํ่าอย่างไร ทั้งนี้เพราะการมุ่งสู่เป้า Net Zero จะทำไม่ได้เลยหากขาดความร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วนในสังคม