"วราวุธ"ลั่น ไทยพร้อมเป้าหมาย"สังคมคาร์บอนต่ำ"ในCOP26

30 ก.ย. 2564 | 15:17 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ย. 2564 | 22:34 น.
600

วราวุธพร้อมประกาศเป้าหมายไทย ร่วมลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในเวที COP26 ที่กลาสโกว์ เร่งทุกหน่วยงานสรุปแผนปีนี้ทำยุทธศาสตร์ระยะยาว  ชี้กระแสโลกมุ่งสังคมคาร์บอนต่ำ กลายเป็นกติกาที่ทุกคนต้องปรับตัว เรียกร้องทุกฝ่ายร่วมมือเพื่อส่งมอบโลกที่อุดมสมบูรณ์ให้ลูกหลาน

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวตอนหนึ่งในปาฐกถาพิเศษ "ยุทธศาสตร์ไทยลดก๊าซเรือนกระจก" ในการสัมมนาออนไลน์ Go Green:เมกะเทรนด์เพื่อโลกสีเขียว จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกจากการพัฒนาที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจและเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคน

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทำให้เกิดปรากฎการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติในรูปแบบต่าง  ๆ ไปทั่วโลก ทั้งสภาพภูมิอาการที่เปลี่ยนแปลงสุดขั้วทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม คลื่นความร้อน ไฟป่า ปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM2.5 

จากรายงานการวิจัยพบว่า อุณหภูมิโลกร้อนที่ร้อนขึ้น 2 องศาเซลเซียส ทำให้น้ำท่วมเพิ่มขึ้น 170 % ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจากน้ำแข็งที่ละลายมากขึ้นในแถบขั้วโลก ประชากรโลกจะได้รับผลกระทบ 40-50 ล้านคนจะสูญเสียที่พักอาศัยและที่ทำกิน  WEF จัดให้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความล้มเหลวของโลกในการแก้ไขปัญหานี้ เป็นความเสี่ยงในลำดับต้น ๆ โลก

ในรอบเกือบ 2 มานี้ที่โลกเผชิญทั้งปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ควบคู่กับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ผลอีกด้านของโควิด-19 ทำให้โลกชะลอกิจกรรมการผลิต การเดินทางสัญจรต่าง ๆ ทำให้ตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกลดลงไป 6 % ของไทยลดลง 10 % หลายพื้นที่ธรรมชาติได้พักและมีเวลาฟื้นตัว ที่ต้องระวังคือหลังโควิด-19 คลี่คลาย เศรษฐกิจกลับมาเดินเครื่องการผลิต จะเร่งการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศกลับมาอีก

นายวราวุธกล่าวต่อว่า ในส่วนของไทยมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็น 1% ของทั้งโลก คิดเป็น 354 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า แต่ก็มีความสำคัญ และไทยเข้าร่วมกับประชาคมโลกมากว่า 25 ปี ในเวทีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ (UNCCC)  ที่จัดการประชุม COP เพื่อควบคุมการเพิ่มอุณหภูมิของโลกไม่เกิน 2 องศา  หรือข้อตกลงปารีส    

ไทยร่วมมือดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมาย จากเดิมตั้งเป้าก่อนปี 2020 จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 7-20 % ของภาวะปกติ ใน 2 สาขา คือ พลังงานและการขนส่ง ก็ปรากฎว่าเราสามารถลดได้ 65 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คิดเป็น 17 %   หรือลดลงได้มากกว่าเป้าหมายขั้นต่ำถึงสองเท่ากว่า 

ส่วนเป้าหมายระยะถัดไปเพิ่มความเข้มข้นขึ้น จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลงให้ได้ 20-25 % ภายในปี 2073 ของภาวะปกติ เป็นทิศทางของโลกว่าจะมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ซึ่งรัฐบาลให้ความสนใจและตั้งใจจะดำเนินการให้บรรลุผล หน่วยงานต่าง ๆ ได้วางแผนรองรับ อาทิ ด้านพลังงาน มุ่งเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน พลังงานสะอาดมากขึ้น ด้านคมนาคมส่งเสริมระบบขนส่งทางราง พัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพ ภาคเกษตร ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ ปลูกข้าวเปียกสลับแห้งลดการปล่อยมีเทนสู่บรรยากาศ อุตสาหกรรม ปรับมาตรฐานอุตสาหกรรมให้ช่วยลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เปลี่ยนสารทำความเย็นให้เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ทำฉลากคาร์บอน

การกำจัดขยะ ส่งเสริม 3R ลดการใช้  ใช้ซ้ำ และใช้ทำผลิตภัณฑ์ใหม่ ด้านป่าไม้ที่ดิน ทั้งป้องกันการบุกรุกที่ป่าเพิ่ม เพิ่มพื้นที่สีเขียว 55 %  เป็นที่ป่า 40 %  แบ่งเป็นป่าอนุรักษ์ 25 % และป่าเศรษฐกิจ 15 %  

รัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)กล่าวอีกว่า นอกจากนี้กระทรวงทส.ได้เสนอร่างพ.ร.บ.ควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการปัญหาก๊าซเรือนกระจกด้วย

"รัฐบาลมุ่งมั่นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ การประชุมCOP26 ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ในเดือนตุลาคมนี้ เราจะประกาศเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกตามแผนที่ได้วางไว้ ทั้งนี้ ในเวที COP 26 ท้าทายให้ทุกชาติประกาศเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ซึ่งประเทศใหญ่พัฒนาแล้วทะยอยประกาศเป้าหมายที่จะมุ่งไป สิ่งนี้จะเป็นแรงกดดันต่อทุกประเทศ ที่ต้องให้ความใส่ใจประเด็นนี้" 

โดยหลายประเทศเริ่มกล่าวถึงเรื่อง คาร์บอน บอเดอร์ ต่อไปสินค้าที่นำเข้า-ส่งออกผ่านประเทศต่าง ๆ นั้น จะต้องมีรายงานกำกับด้วยว่า ในกระบวยการผลิตปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอย่างไร  ซึ่งอียูบังคับใช้แล้วสำหรับกลุ่มสินค้าซิเมนต์ ปุ๋ย เหล็ก เหล็กกล้า เป็นต้น ข้อกำหนดนี้มีแต่จะถูกนำไปใช้มากขึ้นและจะเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ 

นายวราวุธ เผยต่อว่า กระทรวงฯได้ประสานกับทุกหน่วยงานมาร่วมทำยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อรองรับสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ ทั้งในสาขาพลังงาน ขนส่ง อุตสาหกรรมการผลิต การเกษตร ป่าไม้ โดยกำหนดให้ส่งกรอบยุทธศาสตร์ในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยจะขึ้นสู่ระดับสูงสุดในปี 2030 จากนั้นจะลดสัดส่วนลงจากการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจะเป็นกลาง(คาร์บอน นิวทรัลไลเซชั่น-ปล่อยและดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากัน) ในปี 2065 เพื่อไปสู่เป้าหมายระยะยาวคือปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ในปี 2100 หรือเมื่อสิ้นศตวรรษ

"เป้าหมายเหล่านี้เป็นความตั้งใจจริงของรัฐบาล แต่ไม่ใช่เพียงหน้าที่ของรัฐบาล ของฝ่ายค้าน หรือภาคส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องร่วมมือร่วมใจกันของทุกคนทุกภาคส่วน ที่จะเรียนรู้ ตื่นตัว และร่วมกันขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ป่าชุมชนเดิมเรามองประโยชน์ที่เป็นแหล่งอาหารเป็นแหล่งทรัพยากรของชุมชน ต่อไปต้องลึกถึงการเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ให้โลก เป็นความร่วมใจกันเพื่อส่งต่อโลกที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์ให้ลูกหลาน"