ฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน สมศักดิ์ สั่งยกระดับมาตรการฉุกเฉิน

09 ม.ค. 2568 | 15:00 น.

"สมศักดิ์" ประชุมด่วนรับมือฝุ่น PM 2.5 พบ 14 จังหวัดเสี่ยงฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน วาง 4 มาตรการรับมือ เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง จัดทีมแพทย์ลงพื้นที่ชุมชน เร่งแจกมุ้งสู้ฝุ่น-หน้ากากอนามัย พร้อมเปิดตัวนวัตกรรมห้องปลอดฝุ่น 4,700 ห้องครอบคลุม 56 จังหวัด

9 มกราคม 2568 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมทางไกลติดตามสถานการณ์และเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดนนายสมศักดิ์ กล่าวว่า การประชุมวันนี้เพื่อติดตามสถานการณ์สิ่งแวดล้อม ฝุ่น PM 2.5 ที่มีแน้มโน้มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชน

ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข ก็ต้องมีความพร้อมในการดูแลสุขภาพของประชาชน จึงขอให้สาธารณสุขทุกจังหวัด สถานพยาบาล เตรียมความพร้อมป้องกันกลุ่มเสี่ยงตามมาตรการอย่างเคร่งครัด เพราะจากข้อมูลพบว่า ระหว่างวันที่ 11 ต.ค.67 - 9 ม.ค.68 มี 53 จังหวัด ที่ฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานและมีถึง 14 จังหวัด ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยสถานการณ์มีแนวโน้มเกินมาตรฐานไปจนถึงวันที่ 15 ม.ค.68 

ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมความพร้อมช่วยเหลือประชาชน ทั้ง ห้องปลอดฝุ่น จำนวน 4,700 ห้อง ใน 56 จังหวัด ซึ่งอยู่ในสถานบริการ สธ. 3,009 ห้อง ศูนย์พัฒนาด็ก/โรงเรียน 858 ห้อง อาคารสำนักงาน 457 ห้อง และร้านอาหาร 376 ห้อง รวมถึงเตรียมความพร้อม มุ้งสู้ฝุ่น นวัตกรรมที่ลดปริมาณฝุ่น ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่ปลอดฝุ่นภายในบ้าน โดยเฉพาะผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง ซึ่งขณะนี้ มีมุ้งสู้ฝุ่น 1,338 ชุด ใน 34 จังหวัด 

ฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน สมศักดิ์ สั่งยกระดับมาตรการฉุกเฉิน

"กระทรวงสาธารณสุข ยังมีข้อเสนอเพื่อดำเนินการ คือ กิจกรรมแจกหน้ากากอนามัยให้กลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ประกอบอาชีพกลางแจ้ง อสม. กิจกรรมแจกมุ้งสู้ฝุ่น พร้อมหน้ากากอนามัย รณรงค์สร้างความรอบรู้ ในการดูแลสุขภาพจากมลภาวะทางอากาศ

ส่วนการเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 คือ กลุ่มโรคทางเดินหายใจ กลุ่มโรคหัวใจหลอดเลือด กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ และกลุ่มโรคตาอักเสบ ซึ่งจะมีการคัดกรองสุขภาพเชิงรุกในชุมชนที่พบฝุ่นเกินค่ามาตรฐานด้วย

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำ 4 มาตรการหลัก คือ 1.สร้างความรอบรู้และส่งเสริมองค์กรลดมลพิษ พร้อมประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้และแจ้งเตือน รวมถึงนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการสื่อสารให้ความรู้และแจ้งเตือน

โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคหัวใจ และโรคระบบทางเดินหายใจ ให้เข้าถึงมากยิ่งขึ้น 

ฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน สมศักดิ์ สั่งยกระดับมาตรการฉุกเฉิน

2.ลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ โดยป้องกันกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเสี่ยง ซึ่งกำหนดมาตรการ Work From Home และงดกิจกรรมกลางแจ้ง 

3.จัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยจัดทีมปฏิบัติการดูแลสุขภาพกลุ่มเสี่ยงในชุมชน

4.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ โดยยกระดับศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์ (PHEOC) และสาธารณสุข ให้ตอบสนองทันท่วงที 

นายสมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลกระทบต่อสุขภาพหากได้รับ PM 2.5 จะมีตั้งแต่อาการเล็กน้อย คือ ไอ จาม ระคายเคืองผิวหนัง ผื่น คัน แสบตา ตาแดง จนทำให้ปอดอักเสบ โดยหากได้รับในระยะยาว จะส่งผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินหายใจ และถึงขั้นเป็นมะเร็งได้ กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคระบบทางเดินหายใจ จะมีความเสี่ยงมากกว่าประชาชนทั่วไป

ฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน สมศักดิ์ สั่งยกระดับมาตรการฉุกเฉิน

ในช่วงที่มีค่า PM 2.5 เกินมาตรฐานขอให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงดูแลป้องกันตัวเอง ดังนี้

1. ติดตามสถานการณ์ PM 2.5 และปฏิบัติตามข้อแนะนำ

2. สังเกตอาการ เฝ้าระวังตัวเอง ถ้ามีอาการไอบ่อย แน่นหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน ควรพบแพทย์

3. ช่วงที่มีค่าฝุ่นสูงควรอยู่ในอาคาร ลดหรืองดกิจกรรมนอกบ้าน 4. ถ้าจำเป็นต้องไปในพื้นที่ฝุ่นสูง ควรใส่หน้ากากป้องกันฝุ่น

5. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง

6. พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่นน้ำสะอาดให้มาก

7. ผู้มีโรคประจำตัวควรสำรองยาให้พร้อม และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

8. กลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง ที่มีอาการผิดปกติควรอยู่ในห้องปลอดฝุ่น

9. รักษาสภาพแวดล้อมในบ้านให้สะอาด ทำความสะอาด ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดถูบ่อยๆ ไม่เผาขยะ ลดการจุดธูป และกิจกรรมอื่นที่สร้างฝุ่นเพิ่ม

นอกจากนี้นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ปัจจุบันฝุ่น PM 2.5 ได้เกินค่ามาตรฐาน 37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ดังนั้น เมื่อค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน กระทรวงสาธารณสุข ก็ต้องดูแลสุขภาพในประชาชนกลุ่มเสี่ยง โดยจากตัวเลขสถิติของกรมควบคุมโรค มีผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ช่วง 1 ต.ค.66 - 31 ธ.ค.67 จำนวน 1,048,015 ราย แต่ป่วยจากการสัมผัสฝุ่นแน่นอน เพียง 28 ราย

ฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน สมศักดิ์ สั่งยกระดับมาตรการฉุกเฉิน

จากนี้กระทรวงสาธารณสุขก็จะเน้นดูแลกลุ่มเปราะบางพร้อมดำเนินการสื่อสารแจ้งเตือนประชาชน ด้วยกลไล อสม. อสส. และเปิดห้องปลอดฝุ่น มุ้งสู้ฝุ่น โดยกรมอนามัย จะดำเนินการให้กับประชาชน ซึ่งหากพบมีประชาชนเสี่ยงก็จะมอบมุ้งสู้ฝุ่นให้ นอกจากนี้ได้เน้นย้ำให้ กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการตามแนวทาง 4 มาตรการ และสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันในกลุ่มเสี่ยง 

เมื่อถามว่า ค่าฝุ่น PM 2.5 เพิ่มสูงขึ้นแต่หลายคนยังไม่ตระหนัก จะให้คำแนะนำอย่างไร แพทย์หญิงอัมพร กล่าวว่า ประชาชนควรติดตามสภาพอากาศจะได้ประเมินร่างกาย โดยของกรมอนามัยได้มีแบบประเมินสุขภาพ หากพบมีความระคายเคือง แสบตา หรือมีอาการผิดปกติก็ต้องพบหมอ รวมถึงควรเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง และควรสวมใส่หน้ากากอนามัยด้วย