นักวิชาการแนะ เลือกซื้อ “ไส้กรอก” จากแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐาน

22 ธ.ค. 2567 | 15:33 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ธ.ค. 2567 | 15:36 น.

นักวิชาการชี้ “ไส้กรอก” เป็นการแปรรูปเพื่อช่วยยืดอายุการเก็บรักษาเนื้อสัตว์ บริโภคได้ แนะควรเลือกซื้อจากแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐาน GMP และวันหมดอายุ

กรณีที่มีคลิปเผยแพร่ทางโซเชียล โดยนำไส้กรอกที่ไม่ระบุแหล่งที่มา นำเสนอคลิปส่องกล้อง และพบสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่อ้างว่าเป็นไมโครพลาสติก ซึ่งสามารถพบปนเปื้อนได้ในสิ่งแวดล้อม เกลือ ผัก ผลไม้ อาหารทะเล หรือเนื้อสัตว์ แม้จะมีรายงานเกี่ยวกับผลกระทบในสัตว์ทดลอง แต่ยังไม่มีรายงานผลกระทบต่อมนุษย์จากการได้รับผ่านทางห่วงโซ่อาหาร

ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่าไมโครพลาสติกที่รับเข้าสู่ร่างกายมนุษย์จะถูกขับออกผ่านการขับถ่ายได้ ซึ่งปกติแล้วสามารถพบไมโครพลาสติกได้โดยทั่วไปในชีวิตประจำ และไม่ได้เป็นปริมาณที่ยืนยันจากทางการแพทย์ว่ามากพอที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตนั้น

นักวิชาการแนะ เลือกซื้อ “ไส้กรอก” จากแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐาน

ผศ.ดร.รชา เทพษร อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ไส้กรอกเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปที่ช่วยยืดอายุการเก็บรักษา โดยยังคงคุณค่าโปรตีนจากเนื้อสัตว์ไว้ ทำให้รับประทานได้ง่ายขึ้น และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้บริโภค

ทั้งนี้ คลิปดังกล่าวอาจมีความเป็นไปได้ว่าตัวอย่างไส้กรอกในคลิปนั้น ผลิตจากผู้ผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือมาจากแหล่งผลิตที่ไม่น่าเชื่อถือ การสุ่มตัวอย่าง จำนวนตัวอย่าง การเตรียมตัวอย่าง รวมถึงอุปกรณ์ที่นำมาใช้ทดลองอาจไม่ถูกต้องตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

นักวิชาการแนะ เลือกซื้อ “ไส้กรอก” จากแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐาน

อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคเลือกซื้อไส้กรอกที่มาจากแหล่งผลิตที่น่าเชื่อถือ ได้รับการรับรองโดยหน่วยงานด้านความปลอดภัยอาหารก็สามารถประกันได้ว่าผู้บริโภคจะได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และความปลอดภัยสำหรับการบริโภค

“ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปที่ไม่ทราบแหล่งที่มามีความเสี่ยงและอันตรายมาก ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยง เพราะนอกจากความสะอาดและสุขอนามัยที่ไม่ได้รับการตรวจสอบ อาจมีสารเคมีปนเปื้อนหรือตกค้างจากกระบวนการผลิตที่มีการเติมแต่งใส่สารบางอย่างลงไป หรือมีการใส่สารกันเสียเกินปริมาณที่กฎหมายกำหนด”

สำหรับการเลือกซื้อไส้กรอก แนะนำให้เลือกซื้อจากผู้ผลิตและแหล่งจำหน่ายที่ได้รับรองมาตรฐาน เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัย นอกจากนี้ควรสังเกตฉลากรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ผศ.ดร.รชา เทพษร

รวมถึงมีมาตรฐานการผลิต GMP และมีวันเดือนปีหมดอายุระบุชัดเจน บรรจุภัณฑ์ไม่ฉีกขาด ทั้งนี้ แนะให้อุ่นร้อนก่อนรับประทาน เมื่ออุ่นร้อนแล้วไม่ควรทิ้งไว้นาน เพราะอาจทำให้เกิดความเสี่ยงจากจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนหลังกระบวนการอุ่นร้อนทำให้ไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค