จากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในปัจจุบันนับเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่สำคัญโดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งกายและจิตใจโดยเฉพาะความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพตนเองและครอบครัวอาจนำไปสู่ภาวะวิตกกังวลเรื้อรัง คุณภาพการนอนหลับและปัญหาพฤติกรรมในเด็ก เช่น ความหงุดหงิดและสมาธิสั้น
กรมสุขภาพจิต แนะ หมั่นติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศ หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านในวันที่ค่าฝุ่นสูง การใช้หน้ากากป้องกันฝุ่น การฝึกผ่อนคลาย และการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและลดผลกระทบทางสุขภาพจิตในระยะยาว
นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือที่เรียกกันว่า ฝุ่น PM 2.5 ได้กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่สำคัญในหลายประเทศ โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ ฝุ่น PM 2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนซึ่งเล็กมากจนสามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจลึกไปถึงปอดและกระแสเลือด ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายแต่ผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้หยุดอยู่แค่ทางสุขภาพกาย
ในส่วนผลกระทบทางสุขภาพจิตปัญหาจากค่าฝุ่น PM 2.5 สูง ทำให้ประชาชนความเครียดและความวิตกกังวล ในการการเผชิญกับมลพิษทางอากาศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในวันที่ค่าฝุ่น PM 2.5 สูง สามารถเพิ่มระดับความเครียดและความวิตกกังวลในประชาชนได้ ความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของตนเองและครอบครัว รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับอนาคตของสิ่งแวดล้อม อาจทำให้เกิดภาวะวิตกกังวลเรื้อรังได้อีกด้วย
นายแพทย์กิตติศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การต้องเผชิญกับมลพิษที่สูงในชีวิตประจำวัน ทำให้ประชาชนต้องปรับตัวในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การงดการออกกำลังกาย การไปสังสรรค์ หรือการไปในที่สาธารณะ นำไปสู่ความเครียดและหงุดหงิดที่ไม่สามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติ
อย่างไรก็ตาม กรมสุขภาพจิตขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์ในเรื่องของสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่เสี่ยงอันตราย และให้หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเลือกทำกิจกรรมภายในที่พักอาศัยหรือใช้วิธีการผ่อนคลายรูปแบบอื่น เช่น การดูหนัง ฟังเพลงเพื่อพักผ่อนหย่อนใจทดแทนไปก่อน หรือการทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวในที่พักอาศัย พร้อมทั้งเตรียมวิธีการป้องกันและลดผลกระทบจากการเผชิญกับฝุ่น PM 2.5 เช่น
1. การติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศ และหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านในวันที่ค่าฝุ่นสูง หากต้องเดินทางให้เตรียมความพร้อม เช่น การใช้หน้ากากป้องกันฝุ่นเมื่อจำเป็นก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยลดการรับฝุ่นเข้าสู่ร่างกาย
2. การฝึกผ่อนคลาย การพูดคุยกับเพื่อนหรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต สามารถช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลได้อีกรูปแบบหนึ่ง
จากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย แต่ยังมีผลต่อสุขภาพจิตของประชาชนในระยะยาว กรมสุขภาพจิตขอให้ประชาชนทุกคนร่วมมือกันตระหนักถึงผลกระทบ และการดำเนินมาตรการป้องกันอย่างเหมาะสมในการเผชิญกับฝุ่น PM 2.5
ทั้งนี้ หากมีความกังวล เครียด สามารถโทรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิตทางสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพจิตและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไปได้อีกด้วย