"เฮลท์แคร์"บูม รับปีทอง 2568 สินค้าสูงวัย-ศัลยกรรมพุ่ง

04 ธ.ค. 2567 | 05:05 น.

ชี้ปี 2568 ปีทองธุรกิจเฮลท์แคร์ “คนไทย-นักท่องเที่ยวต่างชาติ” ปลุก Medical Tourism คึกคัก เผย 5 ปัจจัยขับเคลื่อน "นโยบายของภาครัฐ-การเติบโตของสังคมเมือง-การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ-กลุ่มผู้สูงอายุ-คนไข้ต่างชาติ"

ข้อมูลจาก Global Wellness Institute (GWI) ได้ประเมินภาพรวมของเศรษฐกิจด้านการดูแลสุขภาพทั่วโลก ระบุว่า ในปี 2568 คาดว่าเศรษฐกิจสุขภาพทั่วโลกจะมีมูลค่าอย่างน้อย 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 230 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกันมีแนวโน้มขยายตัว 8.6% ต่อปีจนถึงปี 2570 ส่งผลให้มูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 8.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 306 ล้านล้านบาท

ขณะที่ปัญหาใหญ่ของแต่ละประเทศคือการเตรียมพร้อมรับโครงสร้างการเปลี่ยนแปลงของประเทศที่ส่วนใหญ่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) รวมถึงประเทศไทยที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ (Aged Society) ด้วยจำนวนประชากรผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงกว่า 13.45 ล้านคน จากจำนวนประชากรไทยทั้งหมด 64.98 ล้านคน

หรือคิดเป็น 20.70% และคาดว่าจะขยับเป็นสังคมสูงอายุแบบสุดยอด (Super Aged Society) มีผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 30% ในปี พ.ศ.2576 ดังนั้นความต้องการดูแลสุขภาพจึงเพิ่มสูงขึ้นตามเป็นด้วย จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในธุรกิจเฮลท์แคร์

ปี 68 ปีทองของธุรกิจเฮลท์แคร์

ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH และอดีตนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บรรยากาศของโรงพยาบาลเอกชนในปัจจุบันประเมินว่ามีจำนวนลูกค้าค่อนข้างสูง โดยเฉพาะตลาดในด้านการตรวจสุขภาพ (Health Checkup) และตลาดศัลยกรรม

เพราะช่วงวันหยุดก่อนถึงสิ้นปีผู้คนจะใช้เวลาดูแลตัวเองและปรับรูปลักษณ์เพื่อต้อนรับปีใหม่ นอกจากนี้แนวโน้มการป่วยในสังคมผู้สูงอายุยังเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องเข้ารับการบริการจากคลินิก โรงพยาบาล ศูนย์การแพทย์ต่างๆ ทำให้ตลาดเฮลท์แคร์กระเตื้องพอสมควร

ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์

“สองเดือนที่ผ่านมาถือว่าเป็นไฮซีซันของกลุ่มธุรกิจสุขภาพ นอกจากมีผู้ใช้บริการภายในประเทศยังมีนักท่องเที่ยวจากต่างชาติเข้ามาด้วย ทำให้ตลาด Medical Tourism คึกคัก จากตัวเลขนักท่องเที่ยวของประเทศไทยที่ภาครัฐประเมินไว้ประมาณ 32 ล้านคน ตอนนี้ประมาณ 28.8 ล้านคน น่าจะถึงตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ ส่วนตลาดศัลยกรรมก็เติบโตต่อเนื่อง 10-15% ต่อปี กลุ่มใหญ่จะเป็นลูกค้าคนไทย ลูกค้าต่างชาติมีเพียงประมาณ 20% และในปี 2567 ก็มีแนวโน้มเติบโตในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน”

คาดการณ์ว่าจากช่วงท้ายปีนี้ กระแสธุรกิจเฮลท์แคร์จะดีต่อเนื่องทั้งจากกลุ่มลูกค้าคนไทยและลูกค้าต่างชาติไปจนถึงปี 2568 และกลุ่มโรงพยาบาลรับประกันสังคมที่ประสบปัญหาเรื่องต้นทุนค่ารักษาพยาบาลก็ได้รับการแก้ไขปัญหาแล้ว โดยให้คงอัตราขั้นตํ่าสำหรับค่ารักษาพยาบาล1.2 หมื่นบาท/RW ตลอดทั้งปี

นอกจากนี้ลูกค้าจากต่างชาติในหลายประเทศที่ชะลอการเดินทางในปีที่ผ่านจะเริ่มเดินทางมากขึ้น และกลับเข้ามาในประเทศไทย ถือเป็นข่าวดีและเป็นปีทองของธุรกิจเฮลท์แคร์ โดยขึ้นอยู่กับกลุ่มลูกค้าของแต่ละโรงพยาบาล แต่ละกลุ่มเครือบริษัท เพราะบางแห่งมีสัดส่วนของต่างชาติสูงมากแต่บางแห่งแทบไม่ได้พึ่งพาชาวต่างชาติเลย

ศ.ดร.นพ.เฉลิม กล่าวว่า สำหรับ BCH ในปี 2566 มีผู้เข้ารับบริการเป็นชาวต่างชาติประมาณ 18% ในปี 2567-2568 น่าจะขยับเพิ่มขึ้นได้ประมาณ 20% จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นด้านคุณภาพการรักษาที่มีศักยภาพสูง ราคาค่าใช้จ่ายถูกกว่าหลายประเทศ ตลอดจนการบริการดีที่เป็นเอกลักษณ์ของคนไทย

 

เฮลท์แคร์โตกระจุกย่านเศรษฐกิจ

นายแพทย์กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล กรรมการผู้จัดการและรองประธานคณะกรรมการ บมจ.พริ้นซิเพิล แคปิตอล (PRINC) กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจเฮลท์แคร์ในปีนี้ ถือว่าเติบโตต่อเนื่อง มีผู้เล่นในตลาดเข้ามามาก โดยเฉพาะในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่ปัจจุบันมีการเปิดโรงพยาบาลเฉพาะทางเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่สูงขึ้น

แต่โดยภาพรวมยังถือว่ากระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ย่านเศรษฐกิจสำคัญ เช่น กรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดที่มีประชากรที่มีกำลังซื้อ ขณะที่การให้บริการผู้รับบริการชาวต่างชาติในรูปแบบ Fly-in และ Drive-in กรณีการเข้ารับบริการโดยข้ามแดนมารักษามีอัตราการเติบโตสูงขึ้นมาและกระจุกตัวอยู่ในบางกลุ่มโรงพยาบาลที่มีแบรนด์ที่โดดเด่น มีเครื่องมือและบุคลากรที่เพียงพอในการรองรับและให้บริการชาวต่างชาติ

นายแพทย์กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล

โดยเทรนด์การขยายบริการเฮลท์แคร์ ไปยังกลุ่มผู้สูงอายุในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นบริการ การดูแลผู้สูงอายุในรูปแบบบ้านพักผู้สูงอายุ เนอสซิ่งโฮม รวมไปถึงบริการรับส่งพาผู้สูงอายุเข้ารับบริการที่โรงพยาบาล เป็นต้น ประกอบกับกลุ่มรักษาผู้มีบุตรยาก (IVF) ที่เติบโตในไม่น้อยกว่า 10% ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ในมิติของ Wellness, Anti-Aging (การชะลอวัย) และ ความงาม ก็อยู่ในช่วงขยายตัว

 

5 ปัจจัยขับเคลื่อน

สำหรับทิศทางของธุรกิจเฮลท์แคร์ในปี 2568 มีปัจจัยหลักที่เป็นตัวขับเคลื่อน และเป็นประเด็นที่ท้าทายและควรติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่

1. นโยบายของภาครัฐที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนตามสิทธิการรักษาในรูปแบบต่างๆ เช่น การปรับเกณฑ์จ่ายชดเชยรายกลุ่มโรคในสิทธิการรักษาบางสิทธิ, ข้อพิพาทประเด็นนโยบายรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน ซึ่งก็มีผลต่อภาพรวมธุรกิจการให้บริการรักษาโรงพยาบาลเอกชน ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เป็นต้น

2. อัตราการเติบโตของสังคมเมือง ซึ่งมาพร้อมกับการเติบโตของกลุ่มผู้รับบริการ รพ.ในกลุ่มประกัน (Insurance) ซึ่งสอดคล้องกับสัดส่วนของผู้ป่วยนอกต่อผู้ป่วยใน (OPD/IPD) ที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้น

3. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการกระจายตัวของโรคระบาด โรคประจำฤดูที่มีความซับซ้อน และมีความรุนแรงในบางพื้นที่ ส่งผลต่อการเข้ารับบริการรักษาพยาบาล ซึ่งรวมไปถึงการกลับมาระบาดของโรคระบาดบางโรค เช่น ไข้เลือดออก ไข้หวัด (สายพันธุ์เก่า และสายพันธุ์ใหม่) หรือมีโรคอุบัติใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นได้

4. สังคมผู้สูงอายุ ที่มีผลต่อกลุ่มโรค NCD ฯลฯ ก็เป็นกลุ่มที่เติบโตขึ้น

5. กลุ่มคนไข้ต่างชาติ น่าจะมีโอกาสเติบโตกลับมาอีกครั้ง

ธุรกิจสุขภาพลงทุนไม่มุ่งหวังแต่ผลกำไร

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุนในธุรกิจเฮลท์แคร์ นายแพทย์กฤตวิทย์ กล่าวว่า อยากให้นักลงทุนศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุนไม่ว่าในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมใด กรณีการลงทุนในธุรกิจเฮลท์แคร์นั้น อัตราการเติบโตไม่ได้หวือหวาเพราะว่าภาพรวมเป็นธุรกิจที่ค่อยๆใช้เวลาเติบโต เช่น ลงทุนในโรงพยาบาลเอกชนแห่งใหม่ กว่าจะถึงจุดคุ้มทุนก็น่าจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3-5 ปี

ขณะที่แนวโน้มทิศทางมีอัตราการเติบโตเร่งขึ้น อันเนื่องมาจากหลายปัจจัย เช่น สังคมผู้สูงอายุ ความเป็นสังคมเมือง โรคระบาด ฯลฯ แต่ก็ต้องมีความพร้อม ความสามารถ และแนวทางบริหารจัดการที่ดีมีประสิทธิภาพแข่งขันได้ จึงจะอยู่ได้

“ธุรกิจเฮลท์แคร์จากที่สัมผัสตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา เป็นธุรกิจที่ต่างจากธุรกิจอื่น เป็นธุรกิจที่ไม่ได้สามารถมุ่งหวังแต่ผลกำไร แต่ยังต้องยึดจรรยาบรรณวิชาชีพความปลอดภัยของผู้ป่วยมาเป็นอันดับแรก เป็นธุรกิจเพื่อสังคม แม้จะเป็นเอกชน ก็ต้องให้บริการให้มีคุณภาพ และต้องดูแลคนไข้ให้เท่าเทียมกัน ขณะเดียวกันยังมีส่วนเติมเต็มในการสร้างการเข้าถึงบุคลากรทางการแพทย์ในต่างจังหวัดอีกด้วย”

ดังนั้น ภาพของการลงทุนในเฮลท์แคร์ จึงไม่อยากให้มองเป็นการลงทุนที่มีอัตราการเติบโตสูง แต่อยากให้มองเป็นกลุ่มกระจายการลงทุนที่มีการเติบโตอย่างสม่ำเสมอ และยังคงต้านทานได้ในภาวะเศรษฐกิจที่มีความผันผวน ซึ่งโดยภาพรวมในระยะ 5 ถึง 10 ปียังมีโอกาสเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แต่ต้องพัฒนารูปแบบบริการ Model of core ควบคู่ไปกับการพัฒนาประสิทธิภาพทางธุรกิจเอกชน เพื่อให้เป็นองค์กรที่เป็น Sustainable growth คือเป็นองค์กรที่มีคุณค่ากับสังคม และ

 

ชู AI เสริมแกร่งด้านบริการ           

ด้านรศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวว่า ว่า แนวโน้มของผู้ใช้บริการสุขภาพในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจโรงพยาบาลของประเทศไทยจึงเริ่มหันมาใช้ระบบดิจิตอลมากขึ้น โรงพยาบาลหลายแห่งกลายเป็น Digital Hospital ใช้เทคโนโลยีมาบริหารจัดการและให้บริการทางการแพทย์หลายระบบ และที่กำลังเข้ามามีบทบาทอีกอย่างคือ Artificial Intelligence (AI) ซึ่งจะถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องไปในอนาคตอีก 3-4 ปี ไม่ว่าจะเป็นการอ่านผลเลือด ตรวจเม็ดเลือด เอ็กซเรย์ ฯลฯ

\"เฮลท์แคร์\"บูม รับปีทอง 2568 สินค้าสูงวัย-ศัลยกรรมพุ่ง

โดยโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ภายใต้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็เริ่มปรับเปลี่ยนหันมาใช้ระบบดิจิตอลมากขึ้น ล่าสุดได้ลงทุนกว่า 100 ล้านบาท ปรับห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ระบบอัตโนมัติแบบครบวงจร (Complete Integrated Total Lab Automation) เพื่้อรองรับผู้ใช้บริการในตลาดเฮลท์แคร์มีแนวโน้มเติบโตขึ้น

 

THG จ่อลงทุนนวัตกรรมเพิ่ม

เช่นเดียวกันกับ ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลธนบุรี ในเครือ บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า โรงพยาบาลธนบุรีก็ได้ลงทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการและการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง เพื่อย้ำจุดยืนการเป็นโรงพยาบาลทางเลือกอันดับต้นๆ

ที่เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพ ทั้งในเชิงป้องกันและรักษา บริการที่ดี ทันสมัย อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วย นำ Medical Advancement หรือ วิทยาการความก้าวหน้าทางการแพทย์ และ Digital มาผสานกับมาตรฐานทางการแพทย์ที่เป็นจุดแข็งเดิมมาใช้

ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์วิศิษฎ์ วามวาณิชย์

ทั้งขยายขีดความสามารถในการดูแลผู้ป่วย และช่วยอำนวยความสะดวกด้านบริการ โดยระบบที่นำมาใช้ คือ Patient Management System ช่วยเพิ่มความสะดวกในการนัดพบแพทย์และการจัดการคิวรอตรวจสำหรับผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ที่ต้องพบแพทย์หลายด้าน และมีโครงการพัฒนาศูนย์ตรวจสุขภาพองค์รวม หรือ Integrative Check Up Center และในช่วงต้นปี 2568 ได้เตรียมเปิดอาคารผู้ป่วยนอก (OPD) แห่งใหม่ที่เป็นการลงทุนเทคโนโลยีการแพทย์เพิ่มอีก พร้อมออกแบบภายใต้แนวทางอาคารสีเขียว ปรับปรุงระบบและเปิดศูนย์รักษาตอบโจทย์เทรนด์สุขภาพ รองรับสังคมผู้สูงอายุ เป็นต้น

              

คนไทยเปิดกว้างดันตลาดศัลยกรรมแรง

ขณะที่นางสาวลภัสรดา เลิศภานุโรจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) หรือ MASTER ผู้บริหารโรงพยาบาลมาสเตอร์พีช กล่าวว่า สำหรับธุรกิจความงามยังเป็นเทรนด์ที่ปัจจุบันคนให้การยอมรับ และหันมาสนใจปรับเปลี่ยนลักษณะทางกายภาพของตัวเองเพื่อเสริมความมั่นใจเพื่อให้ตัวเองดูดีขึ้น แต่แน่นอนว่าตลาดศัลยกรรมมักเปลี่ยนไปตามกระแสในแต่ละช่วงเวลา เช่น 3-4 ปีที่ผ่านมาจะเป็นเทรนด์การเสริมความงามแบบสายฝ่อ แต่ในปัจจุบันจะเป็นเทรนด์ความงามแบบเกาหลี

ลภัสรดา เลิศภานุโรจ

โดยการปรับเปลี่ยนของตลาดในธุรกิจความงามแทบจะปรับเปลี่ยนรายวัน ที่ได้รับความนิยมยังคงเป็นเรื่องการทำจมูกมากที่สุด ถัดมาคือยกคิ้ว ดึงหน้า ดึงคอ รองลงมาคือทำหน้าอก และดูดไขมัน คนที่เคยทำจะเริ่มหมุนเวียนมาทำเรื่อยๆ อาจจะเป็นหัตถการใหม่หรือหัตถการเดิม ซึ่งเป็นหนึ่งในที่ทำให้ตลาดเติบโตต่อเนื่อง