ข่าวเศร้าของวงการเกาหลี เมื่อสื่อเกาหลีใต้รายงานแจ้งว่า เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ที่ผ่านมา พัคมินแจ นักแสดงหนุ่มวัยเพียง 32 ปี เสียชีวิตแล้วจากอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ที่ประเทศจีน เกิดคำถามขึ้นตามมาว่า ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนี้ มีวิธีป้องกันได้หรือไม่ เมื่อเป็นแล้วมีอาการอย่างไร และสาเหตุเกิดจากอะไร ที่นี่มีคำตอบ
ข้อมูลจากโรงพยาบาลพญาไท ระบุว่า ในแต่ละปีมีคนเสียชีวิตจากโรคหัวใจมากถึง 54,000 คน เฉลี่ยอยู่ที่ชั่วโมงละ 6 คนเลยทีเดียว และโรคหัวใจยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 รองจาก โรคมะเร็งและอุบัติเหตุ
ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือภาวะที่หัวใจทำงานผิดปกติ จนไม่มีการบีบตัวหรือหยุดเต้นทันที โดยไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า เมื่อเกิดภาวะนี้ จะไม่มีการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้การทำงานของอวัยวะผิดปกติ ซึ่งอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการทำงานของสมอง เมื่อไม่มีเลือดมาเลี้ยงก็ทำให้หมดสติ การช่วยเหลือจึงจำเป็นต้องทำอย่างทันท่วงที
ในประเทศไทยจะยังไม่มีการเก็บสถิติการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันที่ชัดเจนแต่จากข้อมูลของประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า มีการเกิดภาวะนี้มากถึงปีละ 300,000-400,000 ราย โดยจะพบมากในกลุ่มที่เป็นนักกีฬา
ส่วนใหญ่การเกิดภาวะนี้เนื่องมาจากการที่หัวใจเต้นผิดปกติ ที่เรียกว่า Ventricular Fibrillation ซึ่งในภาวะปกติ หัวใจจะผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นให้หัวใจบีบตัวเป็นจังหวะเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย แต่เมื่อหัวใจเต้นผิดปกติชนิด Ventricular Fibrillation กระแสไฟฟ้าที่ส่งออกจากหัวใจจะเร็วและไม่เป็นจังหวะ จนทำให้หัวใจไม่บีบตัวและเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงร่างกายได้
ผู้ป่วยจะหมดสติภายในไม่กี่วินาทีและเสียชีวิตได้ทันทีแต่อาจให้ความช่วยเหลือได้โดยการช็อกด้วยกระแสไฟฟ้า (Electrical Shock) จากเครื่องมือที่เรียกว่า Defibrillator ซึ่งเมื่อก่อนเครื่องมือชนิดนี้มีใช้แต่เฉพาะในโรงพยาบาลหรือรถพยาบาลเท่านั้นแต่ปัจจุบันอาจจะพบเครื่องมือชนิดนี้ที่สามารถใช้งานได้โดยทั่วไปที่เรียกว่า AEDs (Automatic External Defibrillators) ตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น สนามบิน โรงเรียน สนามกีฬา หรือแม้แต่ห้างสรรพสินค้า
ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันมักจะเกิดในคนที่ดูปกติและไม่ทราบว่าเป็นโรคหัวใจมาก่อน ซึ่งความเป็นจริงแล้วเขาเหล่านั้นมักจะมีโรคหัวใจแฝงอยู่โดยที่ไม่รู้ตัว ซึ่งมีสาเหตุหลัก ๆ คือ
หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ พบในผู้ป่วยโรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, ไขมันในเลือดสูง และสูบบุหรี่
กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง (low ejection fraction EF) Ejection Fraction คือ การวัดปริมาณเลือดที่สูบฉีดออกจากหัวใจในการบีบตัว 1 ครั้ง ซึ่งคนปกติหัวใจจะบีบตัวให้เลือดสูบฉีดออกไปต่อครั้งประมาณ 50-70% (EF 50-70%) แต่ในคนที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันจะมีการบีบตัวที่น้อยกว่า 35% (EF < 35%)
ในผู้ป่วยที่อายุน้อย โดยเฉพาะที่น้อยกว่า 30 ปี มักเกิดจากความผิดปกติในทางเดินกระแสไฟฟ้าของหัวใจ เช่น Congenital long QT syndrome (LQTS) ความผิดปกติที่กล้ามเนื้อหัวใจ เช่น Hypertrophic Cardiomyopathy ความผิดปกติที่หลอดเลือดโคโรนารีที่เลี้ยงหัวใจ (Abnormalities of coronary arteries)
สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ตรวจดูผู้ป่วยหมดสติ โดยเรียกหรือเขย่าตัวดูว่ายังมีการตอบสนองหรือไม่ ถ้าไม่มีการตอบสนอง ให้สังเกตว่า ผู้ป่วยมีอาการกระตุกหรือชักเกร็งบ้างหรือไม่ หรือหายใจเฮือก หรือ หยุดหายใจ
ถ้ามีให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ป่วยอาจมีภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน จากนั้นให้รีบโทรศัพท์แจ้งเพื่อขอความช่วยเหลือจากโรงพยาบาลทันที และเริ่มการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานด้วยการนวดหัวใจซึ่งอาจจะยังไม่จำเป็นต้องเป่าปากร่วมด้วยเพียงเท่านี้ก็ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้แล้ว หรือ ถ้าบริเวณนั้นมีเครื่อง Automated External Defibrillator หรือ AED ให้รีบนำเครื่องมาใช้ทันที
ทั้งนี้ พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ดีจะสามารถลดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน รวมทั้งโรคหัวใจได้ เริ่มตั้งแต่การกินอาหารสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ พืชเมล็ดถั่ว ปลา ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็วประมาณ 30 นาทีให้ได้เกือบทุก ๆ วัน ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม ไม่สูบบุหรี่ และดูแลรักษาโรคประจำตัว โดยเฉพาะเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง
ขอบคุณข้อมูล โรงพยาบาลพญาไท