30 พฤศจิกายน 2567 นพ.ศักดา อัลภาชน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 36/2567
สถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้เพิ่มขึ้นเป็น 6 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 2 ราย จากการจมน้ำ รวมเสียชีวิต 11 ราย ได้แก่ ปัตตานี 3 ราย และนครศรีธรรมราช ยะลา นราธิวาส สงขลา จังหวัดละ 2 ราย
สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบรวม 94 แห่ง ได้แก่ สงขลา 32 แห่ง ปัตตานี 23 แห่ง ยะลา 16 แห่ง และนราธิวาส 23 แห่ง แบ่งเป็น โรงพยาบาลชุมชน 8 แห่ง รพ.สต. 42 แห่ง สาธารณสุขอำเภอ 3 แห่ง สถานบริการสาธารณสุขชุมชน 5 แห่ง และโรงพยาบาลนอกสังกัดกระทรวงสาธารรณสุข 35 แห่ง
ภาพรวมสามารถเปิดให้บริการตามปกติ 12 แห่ง เปิดบริการบางส่วน 8 แห่ง และปิดบริการ 74 แห่ง จำนวนนี้เป็นโรงพยาบาลชุมชน 4 แห่ง ได้แก่
-รพ.ยะหริ่ง ย้ายบริการไปที่หน่วยปฐมภูมิยามู และย้ายผู้ป่วยไปที่ รพ.ปัตตานี 3 ราย
-รพ.สมเด็จพระยุพราชสายบุรี 5 ราย
-รพ.ยะรัง 4 ราย
-รพ.หนองจิก ย้ายผู้ป่วย 20 รายไปที่ รพ.ปัตตานี
-รพ.ทุ่งยางแดง เปิด รพ.สนาม ที่บ้านตลาดนัดฆอมิส ย้ายผู้ป่วยไปที่ รพ.ปัตตานี 1 ราย
-รพ.สมเด็จพระยุพราชสายบุรี 4 ราย
-รพ.แม่ลาน ย้ายผู้ป่วยไป รพ.โคกโพธิ์ 6 ราย
-รพ.ปัตตานี 2 ราย
ส่วนการดูแลช่วยเหลือประชาชน มีการจัดตั้งศูนย์พักพิง 196 แห่ง ในจังหวัดยะลา นราธิวาส สงขลา และปัตตานี รองรับประชาชนได้ 30,000 ราย มีผู้เข้าพัก 11,317 ราย
จัดทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์ทั้งทีมสอบสวนโรค ทีมเยียวยาจิตใจ (MCATT) ทีมอนามัยสิ่งแวดล้อม ทีมการแพทย์ฉุกเฉินและอื่น ๆ รวม 632 ทีม ให้บริการประชาชนรวม 10,315 ราย แบ่งเป็น
กลุ่มเปราะบางได้รับการดูแลแล้ว 1,064 ราย เป็นผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง 331 ราย ผู้พิการ 84 ราย ตั้งครรภ์ 47 ราย ผู้สูงอายุ 382 ราย และอื่นๆ (จิตเวช/ฟอกไต ฯลฯ) 220 ราย
โรคที่พบมากสุด 3 อันดับ คือ น้ำกัดเท้า ระบบทางเดินหายใจ และระบบผิวหนัง เช่น แพ้ ผื่นคัน
ส่วนการเฝ้าระวังโรคที่มากับน้ำท่วม ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคฉี่หนู โรคปอดอักเสบ โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคอุจจาระร่วง ยังไม่พบสัญญาณการเกิดโรค นอกจากนี้ยังสนับสนุนเวชภัณฑ์เป็นยารักษาน้ำกัดเท้า 2,680 หลอด และยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย 5,650 ชุด ให้กับประชาชนด้วย
ทั้งนี้ ได้กำชับให้ทุกจังหวัดยังติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังผลกระทบจากฝนตกหนัก รวมถึงเน้นย้ำการดูแลผู้ป่วยตั้งครรภ์และผู้ป่วยฟอกไต ตามข้อสั่งการของที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่ม (ศปช.) โดย สงขลา ให้ติดตามระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำและระดับน้ำท่วมในพื้นที่ พบว่า อ.สะบ้าย้อย นาทวี สะเดา มีแนวโน้มลดลง แต่ยังอยู่ในระดับวิกฤต
ขณะที่ อ.เทพา จะนะ หาดใหญ่ สิงหนคร และระโนด มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากน้ำทะเลยังหนุน คาดว่า 1-2 วันการระบายน้ำน่าจะดีขึ้น
ส่วนที่ปัตตานี มีการเตรียมความพร้อมกรณีสถานบริการสาธารณสุขไม่สามารถเปิดให้บริการได้ โดย รพ.ปัตตานี สำรองเตียงไว้รองรับ 50 เตียง รพ.สมเด็จพระยุพราชสายบุรี 50 เตียง และ รพ.ยะรัง 20-30 เตียง