ทุกวันที่ 27 พฤศจิกายนของทุกปี เป็น วันสาธารณสุขแห่งชาติ หรือ วันสถาปนาการสาธารณสุข หรือ วันสถาปนากระทรวงสาธารณสุข โดย วันสาธารณสุขแห่งชาติเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) มีพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่ในการรับผิดชอบ ดูแลส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันรักษาโรคภัยให้แก่ประชาชน
เดิมให้วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2461 เป็นวันสถาปนากระทรวงสาธารณสุข ตามวันที่ประกาศพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้องที่ลงในหนังสือราชกิจจานุเบกษา
ต่อมาได้เปลี่ยนให้ วันสาธารณสุข เป็นวันที่ 27 พฤศจิกายนของทุกปีและได้เริ่มใช้ตั้งแต่ พ.ศ.2509 เป็นต้นมา
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ได้ระบุประวัติความเป็นมาของ วันสาธารณสุขแห่งชาติ โดย พระบำราศนราดูร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวบรวมไว้ในหนังสืออนุสรณ์สาธารณสุขครบ 15 ปี ได้กล่าวถึง ประวัติงานสาธารณสุขจนถึงก่อตั้งเป็น กระทรวงสาธารณสุข สรุปไว้ดังนี้
25 ธันวาคม 2431 พระพุทธเจ้าหลวงทรงตั้ง "กรมการพยาบาล" ขึ้นเพื่อให้ควบคุมดูแลกิจการศิริราชพยาบาลสืบแทนคณะกรรมการสร้างโรงพยาบาลวังหน้าซึ่งพ้นหน้าที่ไป
เมื่อการจัดตั้งเสร็จแล้ว กรมพยาบาล มีหน้าที่จัดการศึกษาวิชาแพทย์ ควบคุมโรงพยาบาลอื่น ๆ และจัดการปลูกฝีเป็นทานแก่ประชาชน สันนิษฐานว่า กรมพยาบาล ขึ้นตรงต่อองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพราะพระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ราชเลขาธิการส่วนพระองค์ ทรงเป็น อธิบดี
ครั้นพระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2432 กรมพยาบาล ย้ายมาสังกัดใน กระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน) เริ่มมีแพทย์ประจำเมืองขึ้นในบางแห่ง มีการนำยาตำราหลวงออกจำหน่วยในราคาถูกและตั้งกองแพทย์ไปป้องกันโรคระบาด
ต่อมาในปี พ.ศ.2448 (ร.ศ. 124) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ยุบ "กรมพยาบาล" และ ตำแหน่ง อธิบดีกรมพยาบาล โดย อธิบดีกรมพยาบาลคนสุดท้าย คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา และให้โรงพยาบาลอื่นที่สังกัดกรมพยาบาลไปขึ้นอยู่ใน กระทรวงนครบาล ยกเว้นโรงศิริราชพยาบาล คงให้เป็นสาขาของโรงเรียนราชแพทยาลัย
ส่วนกองโอสถศาลารัฐบาล กองทำพันธุ์หนองฝี กองแพทย์ป้องกันโรคและแพทย์ประจำเมือง ยังคงสังกัดอยู่ใน กระทรวงธรรมการ ตามเดิม
30 มีนาคม 2451 กระทรวงมหาดไทยได้ขอโอนกองโอสถศาลารัฐบาล กองทำพันธุ์หนองฝี กองแพทย์ป้องกันโรค และแพทย์ประจำเมืองมาอยู่ในบังคับบัญชาของ กระทรวงมหาดไทย ซึ่งในชั้นแรกให้สังกัดอยู่ใน กรมพลำภังค์
เดือนตุลาคม พ.ศ. 2455 พระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิริยศิริ) เดินทางไปประเทศฟิลิปปินส์ พบเห็นการรักษาพยาบาลป้องกันโรค ตลอดจนวิธีปลูกฝี จึงได้ถวายรายงานขึ้นนำกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับความเห็นว่า ควรจะรีบจัดวางการป้องกันโรคสำคัญ 4 อย่าง คือ
กระทรวงมหาดไทย จึงได้ขอพระบรมราชานุญาตตั้ง กรมพยาบาล ขึ้น มีเจ้ากรมพยาบาลคนแรก คือ พระยาอมรฤทธิธำรง (ฉี บุนนาค)
ต่อมากระทรวงมหาดไทยมีความประสงค์จะปรับปรุงกิจการของ กรมพยาบาล ให้กว้างขวางและก้าวหน้ายิ่งขึ้นจึงนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ขอพระบรมราชานุญาตเปลี่ยนชื่อ กรมพยาบาล เป็น กรมประชาภิบาล และได้รับพระบรมราชานุญาตตามสำเนาพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ 19 ธันวาคม พุทธศักราช 2459
ต่อมาในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2461 ได้ประกาศตั้ง กรมสาธารณสุข โดยเปลี่ยนจาก กรมประชาภิบาล และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร อธิบดีกรมมหาวิทยาลัย เป็น อธิบดีกรมสาธารณสุข โดย กรมสาธารณสุข อยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทยเรื่อยมาจนถึง พ.ศ.2485 จึงได้มี การสถาปนากรมสาธารณสุข ขึ้นเป็น กระทรวงสาธารณสุข
พระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้องที่ได้ประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาตอนที่ 16 เล่ม 59 วันที่ 10 มีนาคม 2485 กระทรวงสาธารณสุข จึงถือเอาวันที่ 10 มีนาคม เป็นวันสถาปนากระทรวงสาธารณสุข
ต่อมา กระทรวงสาธารณสุข ได้เปลี่ยน วันสถาปนากระทรวงสาธารณสุข เป็นวันที่ 27 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันสถาปนากรมสาธารณสุข ในกระทรวงมหาดไทย เมื่อ พ.ศ.2461 และได้นำเรื่องเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วย
วันสถาปนากระทรวงสาธารณสุข ได้เปลี่ยนจากวันที่ 10 มีนาคม เป็นวันที่ 27 พฤศจิกายนตั้งแต่ พ.ศ. 2509 เป็นต้นมา
ข้อมูล กระทรวงสาธารณสุข