25 ตุลาคม 2567 นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในงานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในวันที่ 27 ตุลาคม 2567 ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารว่า พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นอีกหนึ่งวาระสำคัญที่พสกนิกรทุกหมู่เหล่าจะได้ร่วมแสดงความจงรักภักดี
ทั้งนี้ คาดว่า จะมีประชาชนทั้งที่เดินทางมาเองและเดินทางโดยการอำนวยความสะดวกของกรุงเทพมหานคร และกระทรวงมหาดไทย มาร่วมรับเสด็จฯ ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นคน จึงมีการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชนที่มาร่วมงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
โดยจัดทีมแพทย์จากหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ฯ โรงพยาบาล 4 เหล่าทัพ และภาคเอกชน รวม 45 ทีม
ภารกิจด้านการแพทย์จะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.การดูแลผู้เข้าร่วมรับเสด็จฯ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน โดยกลุ่มผู้ที่มาจากต่างจังหวัดประมาณ 3,000 คน จาก 8 จังหวัด คือ ลพบุรี ปทุมธานี ชลบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี จังหวัดละ 300 คน ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และนครปฐม จังหวัดละ 500 คน จะแนะนำการดูแลสุขภาพตั้งแต่ก่อนเดินทาง และจัดทีมแพทย์ติดตามจังหวัดละ 1 ทีม
ส่วนการดูแลขณะร่วมรับเสด็จฯ จะตั้งจุดบริการทางการแพทย์ตลอดแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยา 4 โซน 19 จุดบริการ ได้แก่
โซนที่ 1 โรงพยาบาลเลิดสิน กำกับดูแล 3 จุด
โซนที่ 2 ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน กทม. กำกับดูแล 7 จุด
โซนที่ 3 โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กำกับดูแล 3 จุด
โซนที่ 4 โรงพยาบาลศิริราช กำกับดูแล 6 จุด
นอกจากนี้ ยังมีการดูแลด้านสุขภาพจิต โดยจัดเตรียมทีมสหวิชาชีพประจำจุดคัดกรองวัดอรุณราชวราราม และทีมเคลื่อนที่ประจำจุดบริการต่าง ๆ ด้วย
2.การส่งกลับสายการแพทย์ไปรักษายังโรงพยาบาล จะประสานงานผ่านศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน กรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) โดยกำหนดโรงพยาบาลรับส่งต่อไว้ 4 แห่ง ได้แก่
นำส่งโดยรถพยาบาลทั้งระดับพื้นฐาน (BLS) และระดับสูง (ALS) มีรถจักรยานยนต์ตำรวจจราจรโครงการนำทาง
3.การกำหนดมาตรการป้องกันและตรวจจับโรคและภัยสุขภาพ โดยจะรวบรวมข้อมูลจากการให้บริการทางการแพทย์ ให้คำปรึกษาในด้านการป้องกันและควบคุมโรค พร้อมกำหนดมาตรการป้องกันโรคต่าง ๆ