นพ.สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ได้แลกเปลี่ยนหารือเกี่ยวกับนโยบายการปรับโครงสร้าง และแนวทางการทำงานด้านการวิจัยและพัฒนาภายในหน่วยงานให้สอดคล้องกับนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ รวมไปถึงการจัดทำแนวทางสร้างแรงจูงใจให้กับนักวิจัยในการมุ่งเน้นทำวิจัยและพัฒนา สอดคล้องกับพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้มีประกาศออกมา
โดยได้กล่าวถึงประเด็นโจทย์สำคัญทางด้านการแพทย์ที่จะช่วยยกระดับบริการทางการแพทย์ของประเทศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อาทิ การจัดการชุดความรู้ข้อมูลโรคสำคัญ ในระดับเขตพื้นที่สุขภาพ 13 เขต เพื่อนำข้อมูลประกอบการจัดทำแนวทางลดอัตราการเกิดโรคและลดอัตราการตายของประชาชนไทย และการจัดทำระบบข้อมูลเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขที่มีข้อมูลความพร้อมทางด้านสถานที่ เครื่องมือ และผู้เชี่ยวชาญ ที่พร้อมให้บริการทางการแพทย์ เป็นต้น
"นับเป็นโอกาสอันดีที่ สกสว. และ กรมการแพทย์ ได้มีการหารือแลกเปลี่ยนแนวทางการบริหารจัดการงบประมาณด้าน ววน. ร่วมกัน เพื่อให้หน่วยงานมีความเข้มแข็งและมีแนวทางการบริหารงานวิจัยที่มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับนโยบายและตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ รวมถึงส่งเสริมให้นักวิจัยมีความมุ่งมั่นในการวิจัยและพัฒนาให้กับประเทศ ตลอดจนสามารถดำเนินงานตามแผนที่วางไว้ได้อย่างมีประสิทธิผลต่อไป"
รศ.(พิเศษ) นพ.สถิตย์ นิรมิตรมหาปัญญา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแลประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์มีพันธกิจในการสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ นวัตกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สมคุณค่าและจัดบริการทางการแพทย์เฉพาะทางระดับตติยภูมิที่ยุ่งยากซับซ้อน โดยใช้หลักบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน ภายใต้วิสัยทัศน์ในการเป็นองค์กรหลักในการจัดหาบริการทางการแพทย์แบบองค์รวมระดับชาติ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของประชาชน มีเป้าหมายในระยะ 5 ปี (2566-2570) คือ ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานวิชาชีพอย่างเสมอภาค และในระยะ 20 ปี (2560-2580) คือ ประชาชนสุขภาพดีได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานวิชาชีพอย่างเสมอภาค
สำหรับการแพทย์ไทยเป็น 1 ใน 3 ของเอเชีย โดยงานวิจัยของกรมการแพทย์ ที่ได้รับสนับสนุนจากกองทุน ววน. ที่ผ่านมา จะมุ่งเน้นในส่วน Medical Research, Health technology assessment และ Model development เพื่อผลักดันให้เกิดการนำนวัตกรรมไปใช้งานจริงในโรงพยาบาล พร้อมยกตัวอย่างผลงานที่สร้างผลกระทบ อาทิ โครงการศึกษาระบาดวิทยาโรคหลอดเลือดสมองในประเทศไทย: การศึกษาชนิดติดตามไปข้างหน้าระยะยาวในชุมชน และโครงการความสัมพันธ์ของยีนผู้ป่วยเบาหวานและญาติสายตรงในประชากรไทยที่อาศัยในเขตเมือง เป็นต้น
ด้าน รศ. ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ โดยเฉพาะการสนับสนุนงบประมาณทุนสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund: FF) โดยกองทุน ววน. ได้จัดสรรงบประมาณแบบ Block Grant ซึ่งพิจารณาจากผลการดำเนินงานและศักยภาพของหน่วยรับงบประมาณ เพื่อพัฒนาศักยภาพด้าน ววน. ของหน่วยรับงบประมาณให้มีความเข้มแข็ง รวมถึงสนับสนุนงาน FF ที่ครอบคลุมกิจกรรมตามพันธกิจของหน่วยงานและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน ววน.
โดยแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) พ.ศ. 2566 – 2570 ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสุขภาพ ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 1 ที่มุ่งเน้นทางด้านเศรษฐกิจ ได้แลกเปลี่ยนหารือเกี่ยวกับพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัย และนวัตกรรม ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 มีสาระสำคัญกำหนดให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐได้ และกำหนดหน่วยงาน วิธีการส่งเสริมและการจัดสรรเงินค่าตอบแทนแก่นักวิจัย เพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง ช่วยยกระดับงานวิจัยและเพิ่มแรงจูงใจให้สถาบันวิจัยและนักวิจัยในการผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพและตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ