10 กันยายน 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ตนได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ ครั้งที่ 3/2567 โดยเป็นการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ ชุดที่ 2 หลังจากคณะกรรมการชุดแรกครบวาระ โดยกรรมการมีทั้งหมด 25 คน ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน
กรรมการโดยตำแหน่ง 7 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ส่วนกรรมการที่มาจากการคัดเลือก 16 คน และรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตามมาตรา 12 พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 เพื่อทดแทนคณะเดิมที่หมดวาระ โดยควบรวมคณะอนุกรรมการเดิม 8 คณะ เหลือ 5 คณะ ได้แก่
นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบแผนการขับเคลื่อนระบบสุขภาพปฐมภูมิในสถานการณ์ปัจจุบัน 4 ประเด็น ได้แก่
1.การพัฒนาจังหวัดต้นแบบปฐมภูมิเต็มพื้นที่ เขตสุขภาพละ 1 จังหวัด รวม 12 จังหวัด ได้แก่ แพร่ ตาก อุทัยธานี สระบุรี ราชบุรี ตราด ร้อยเอ็ด อุดรธานี สุรินทร์ ยโสธร ระนอง และพัทลุง โดยมีการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิเต็มพื้นที่ ทำแผนกำลังคนปฐมภูมิในมิติการผลิต
การพัฒนาและการรักษาไว้ในระบบ ค่าตอบแทนและความก้าวหน้า เพิ่มหลักสูตรอบรมแพทย์เฉพาะทางสาขาหลัก (สูตินรีเวช ศัลยกรรม อายุรกรรม กุมารเวชกรรม และเวชศาสตร์ป้องกัน) เพื่อขึ้นทะเบียน เป็นต้น
2.การจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิตามหลักเวชศาสตร์ครอบครัว ทั้งโรคไม่ติดต่อ (NCDs) สุขภาพจิต สมุนไพร และพัฒนาคุณภาพมาตรฐานของหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ
3.การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับจัดบริการแพทย์คู่ประชาชน ระบบข้อมูลกลางและแนวทางการส่งข้อมูล
4.การเงินการคลังเพื่อการจัดบริการปฐมภูมิ โดยจะศึกษารูปแบบการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์สำหรับหน่วยบริการปฐมภูมิ และประสานความร่วมมือกับกองทุนต่างๆ
ทั้งยังเห็นชอบการทำบัญชีรายชื่อแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและคณะผู้ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิในระบบขึ้นทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิคู่กับประชาชน เพื่อเร่งรัดการดำเนินการลงทะเบียนให้ประชาชนคนไทยมีหมอประจำตัวตามที่ พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ กำหนด โดยมอบให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประสาน สปสช. ในการเชื่อมโยงข้อมูลแพทย์กับประชาชนและประสานสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ให้คนไทยมีแพทย์ประจำตัว
รวมถึงยังรับทราบสรุปผลการดำเนินงานภายใต้ พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 ซึ่งมีกฎหมายรองที่ต้องออก 34 ฉบับ มีแผนปฏิบัติการด้านระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2564-2575 ใน 5 ยุทธศาสตร์
มีการจัดตั้งหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่าย 4,101 หน่วย มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวร้อยละ 41.16 และมีการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ เช่น ระบบลงทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่าย พัฒนาโปรแกรม PCU Standard สำหรับจัดเป็นข้อมูลพื้นฐานและข้อมูลการประเมินคุณภาพมาตรฐานของหน่วยบริการ