ดีมานด์พุ่ง ‘เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ’ ทุ่ม 2,000 ล้าน เสริมแกร่งรพ.กระดูก

09 พ.ค. 2567 | 18:11 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ค. 2567 | 18:48 น.

ชี้เทรนด์โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านโรคกระดูกฯ เติบโตต่อเนื่องจากปัจจัยรอบด้านทั้งการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป “รพ.เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ” เล็งทุ่มงบกว่า 2,000 ล้านขยายสาขาเพิ่มในไทย-ต่างประเทศ พร้อมตั้งเป้ารายได้เติบโต 30-50%

นพ.ดิตถพงษ์ บุญอำพล ผู้อำนวยการ โรงพยาบาล เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังและระบบประสาทแห่งแรกในประเทศไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากข้อมูลผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังและระบบประสาทในปี 2566 พบว่า โรคหรืออาการส่วนใหญ่ของผู้ป่วยจะมาจาก 2 สาเหตุหลัก คือ 1.โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท 2.กระดูกงอกทับเส้นประสาท นอกจากนี้ยังมีอาการกระดูกแตกทับเส้นประสาทซึ่งมักจะเจอในกลุ่มคนอายุน้อย และกระดูกเคลื่อน กระดูกพรุน ในกลุ่มผู้ป่วยอายุมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยผู้ป่วยกลุ่มใหญ่ที่เข้ารับการรักษาและผ่าตัดเกินกว่า 50% มากสุด ได้แก่ 1.กลุ่มผู้ป่วยอายุ 50-55 ปี 2.กลุ่มผู้ป่วยอายุ 55-60 ปี ส่วนที่เหลือจะคละกันไปทุกช่วงอายุ และในกลุ่มอายุน้อยอาจไม่จำเป็นต้องผ่าตัดและใช้วิธีการรักษาอีกแบบ ซึ่งสถานการณ์ของโรคกระดูกของคนไทยกับต่างชาติจะไม่ต่างกันมากนัก สถิติคนตัวเตี้ยจะมีปัญหามากกว่าคนตัวสูง คนน้ำหนักตัวมากจะมีปัญหามากกว่าคนน้ำหนักตัวน้อย

อย่างไรก็ดี ปัจจัยบวกที่ทำให้โรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ เติบโตขึ้น ประกอบไปด้วย 1. ประชากรไทยในปัจจุบันมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้น และโรคกระดูกสันหลังมักเกิดจากความเสื่อมของอายุการใช้งานตามอายุผู้ป่วย จึงทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น 2. ผู้ป่วยส่วนใหญ่ล้วนอยากทำการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ซึ่งโรงพยาบาลเอส สไปน์ฯ ตอบโจทย์ให้ข้อนี้ เพราะสามารถผ่าตัดด้วยการเปิดแผลขนาดเล็กได้ และ 3. คนอายุน้อยเริ่มมีอาการของโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลังมากขึ้น จากการนั่งผิดท่า นั่งนาน ประสบอุบัติเหตุถูกกระแทกแรงๆ ยกของหนัก การเล่นกีฬา รวมถึงปัญหาเรื่องปวดคอที่เกิดจากการก้มใช้โทรศัพท์ หรืออยู่ในอริยาบทที่ผิดจากวิสัยที่มนุษย์ใช้งาน เรียกว่า Text Neck Syndrome เป็นโรคที่เพิ่มมาจาก Office Syndrome

“เราพบว่าปัญหาเรื่องโรคกระดูกสันหลัง เกิดจากอายุ และการใช้งานที่ผิดปกติหลายสาเหตุ ซึ่งทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มและส่งผลให้โรงพยาบาลเติบโต แต่ก็มีปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจโดยเฉเพาะช่วงการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ถือว่าตอนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ 100% ถัดมาคือเรื่องของเศรษฐกิจโลก ที่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยช้าลง กระทบต่อกำลังซื้อของผู้ป่วย จนต้องจัดโปรโมชันทำส่วนลดให้กับผู้ป่วยด้วย”

ดีมานด์พุ่ง ‘เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ’ ทุ่ม 2,000 ล้าน เสริมแกร่งรพ.กระดูก

สำหรับภาพรวมของโรงพยาบาลเอส สไปน์ฯ พบว่า ได้รับการตอบรับของลูกค้าค่อนข้างดี แนวโน้มการรักษาผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปีด้วยสัดส่วนคนไทย 85% คนต่างชาติ 15% จากกลุ่มประเทศ CLMV ประเทศอาหรับ และชาวจีน ปัจจุบันมีอยู่ 5 สาขา แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 2 สาขา ต่างประเทศที่กัมพูชา 1 สาขา เวียดนาม 1 สาขา และสปป.ลาว 1 สาขา โดยแต่ละสาขาจะมีแพทย์เฉพาะทางของแต่ละพื้นที่ซึ่งได้รับการเทรนนิ่งเป็นมาตรฐานเดียวกัน

ด้านแผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้จะขยายสาขาไปยังหัวเมืองใหญ่ เพิ่มขึ้นอีก 1 สาขา ภายในปี 2567 เพื่อให้คนไข้ในต่างจังหวัดเข้าถึงการรักษาโรคกระดูกสันหลังได้มากขึ้น ซึ่งง่ายต่อการขนส่งเครื่องมือและการให้บริการของแพทย์ และการใช้ระบบ Telemedicine หรือ โทรเวชกรรม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นที่จะช่วยรักษาผู้ป่วยได้ รวมทั้งขยายสาขาไปยังต่างประเทศเพิ่มอีกในอนาคต ด้วยจุดแข็งทางด้านบริการที่ประเทศไทยนั้น Medical Hub สำหรับคนต่างชาติ

“จากสาขาทั้งหมดที่เรามี โรงพยาบาลหลักและสาขาในพื้นที่กรุงเทพฯ ถือว่าสร้างรายได้มากที่สุดเพราะมีประชากรกระจุกตัวเยอะที่สุด โดยยังครองรายได้เป็นเบอร์ 1 จากทุกสาขา ขณะที่สาขาต่างประเทศจะเป็นกำลังเสริมและเริ่มมีอัตราการเติบโตดี โดยเฉพาะในประเทศกัมพูชาที่ตอบสนองต่อความต้องการผู้ป่วยได้และได้รับความเชื่อมั่นเป็นอย่างดี”

ทั้งนี้ในปี 2567 โรงพยาบาลมีงบลงทุนรวม 2,000 ล้านบาท สำหรับพัฒนาในด้านต่างๆ และขยายสาขาเพิ่ม พร้อมนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้มากขึ้น รวมถึงการพัฒนาเทรนนิ่งเซ็นเตอร์ สำหรับคนทั่วโลกผ่านงานสัมมนา ซึ่งถือว่ามีความท้าทายเป็นอย่างมาก เพราะสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกและในประเทศไทยยังบอกได้ยากว่าจะดีหรือจะแย่ แต่คาดว่าโรงพยาบาล เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ ที่เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางเกี่ยวกับโรคกระดูกสันหลังจะมีอัตราการเติบโต 30-50% จากปีก่อนที่มีรายได้กว่า 500 ล้านบาทมีการเติบโตราว 30% จากการรักษาและให้บริการผ่าตัดเฉลี่ย 200 เคส/เดือน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของผู้ป่วย 3 แสนบาท/การผ่าตัด 1 ครั้ง

ดีมานด์พุ่ง ‘เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ’ ทุ่ม 2,000 ล้าน เสริมแกร่งรพ.กระดูก

นพ.ดิตถพงษ์ กล่าวอีกว่า โรงพยาบาล เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ เริ่มต้นมาจากคลินิก ก่อนพัฒนาเป็นโรงพยาบาลอย่างเต็มตัวในปี 2551 ซึ่งเป็นโรงพยาบาลด้านกระดูกสันหลังโดยตรงแห่งแรกในประเทศไทย มุ่งเน้นการรักษาด้านการผ่าตัดแบบแผลเล็ก ด้วยเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์ขั้นสูงและทันสมัย ลดการเสียเลือดและย่นระยะเวลาการรักษาให้สั้นลง จากนอนโรงพยาบาล 2-3 สัปดาห์ มาเป็นนอนเพียงคืนเดียว และในช่วง 2 ปี แรกที่เปิดให้บริการผลประกอบการมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องเกิน 100% ทุกปี ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 จึงชะลอตัวจากการรับคนไข้ที่ลดลง กระทั่งปี 2566 จึงเริ่มเติบโตขึ้นอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลยังคงเน้นกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ป่วยที่ต้องการการรักษาด้วยแพทย์ที่มีประสบการณ์ มีความชำนาญเฉพาะทาง และส่วนใหญ่จะเป็น
กลุ่มลูกค้าเจ้าของกิจการ ที่ต้องการการรักษาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด และโรงพยาบาล เอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ ก็นำเข้าอุปกรณ์จากเยอรมนี สหรัฐอเมริกา อักฤษ และเกาหลี คุณภาพเทียบเท่ากับโรงพยาบาลชั้นนำในต่างประเทศ โดยเฉพาะเครื่องมือเจาะรูส่องกล้องผ่าตัดขนาด 5 มิลลิเมตร ที่ให้ผลลัพธ์เทียบเท่ากับการผ่าตัดเปิดแผลขนาดใหญ่ และมี Key Success ที่สำคัญ คือ การสร้างคุณภาพการรักษาที่ดี คนไข้มีความพึงพอใจจนเกิดการบอกต่อ และผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาในปัจจุบันล้วนรับรู้มาจากการบอกต่อเกินกว่าครึ่งจากผู้ป่วยทั้งหมด