ศกพ. เตือน10 จังหวัด  ฝุ่นสูง เข้มคุมการเผา ป้องกันสุขภาพ งดกิจกรรมกลางแจ้ง

03 พ.ค. 2567 | 08:58 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ค. 2567 | 09:09 น.

ศกพ. เตือน10 จังหวัด  ฝุ่นสูง พื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คุณภาพอากาศอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) แนะเข้มงวดควบคุมการเผา ป้องกันสุขภาพ งดกิจกรรมกลางแจ้ง

ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) ขอแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละอองมีค่าสูง ในพื้นที่ภาคเหนือและพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คุณภาพอากาศอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) ใน 10 จังหวัด ได้แก่ จ.น่าน จ.พะเยา จ.แพร่ จ.แม่ฮ่องสอน จ.ลำปาง จ.อุตรดิตถ์ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.อุบลราชธานี และ จ.นครพนม 

 

สาเหตุหลักเกิดจากการเผาในพื้นที่ป่า การเผาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (พื้นที่ภาคเหนือ) และพื้นที่นาข้าว (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)  ข้อมูลจาก GISTDA วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 พบจุดความร้อน 2,666 จุด เป็นพื้นที่ป่า 1,480 จุด พื้นที่เกษตร 397 จุด พบในพื้นที่นาข้าว 331 จุด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 409 จุด นอกจากนี้ จุดความร้อนในประเทศเพื่อนบ้านมีค่าสูงเช่นกัน สปป.ลาว พบ 4,791 จุด เมียนมาร์ 1,243 จุด

เมื่อประกอบกับสภาพอุตุนิยมวิทยาที่ไม่เอื้อต่อการระบายอากาศ ทำให้ฝุ่นละอองสะสมอยู่ในพื้นที่จนเกินมาตรฐาน อยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ผลการพยากรณ์จากระบบ Weather Research Forecast Model (WRF-chem)  สถานการณ์จะยังคงเป็นเช่นนี้อยู่ 1-2 วัน

สถานการณ์ฝุ่นภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ศกพ. ขอความร่วมมือกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และจังหวัดที่มีปริมาณฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน ให้ยกระดับการกำกับและติดตามการดำเนินงานในทุกระดับอย่างเข้มงวด และปกป้องสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่

เพื่อบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่น PM2.5  ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วย เด็ก ผู้สูงอายุ และสตรีมีครรภ์ ขอให้พี่น้องประชาชนดูแลสุขภาพ

สถานการณ์ฝุ่นตั้งแต่วันที่2-11พ.ค.

สถานการณ์ฝุ่นวันที่2พ.ค.

ลดกิจกรรมกลางแจ้ง สวมใส่หน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ป้องกันตัวเองเมื่อออกนอกบ้าน ปฏิบัติตนตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข หากพบเจอการเผาขอให้แจ้งภาครัฐเพื่อดับไฟและควบคุมจุดความร้อนพี่น้องประชาชนสามารถดูข้อมูลคุณภาพอากาศจากเว็บไซต์ Air4Thai.pcd.go.th หรือทางแอปพลิเคชัน Air4Thai และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์คุณภาพอากาศผ่านทาง Facebook Fanpage “ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.)"