ศกพ. ย้ำ เพดานลอยตัวอากาศต่ำ ฝุ่นสะสมหนาแน่น ขอให้ประชาชนงดกิจกรรมกลางแจ้ง

15 ก.พ. 2567 | 17:46 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.พ. 2567 | 17:55 น.

ศกพ. ย้ำ เพดานการลอยตัวอากาศต่ำ ฝุ่นสะสมหนาแน่น ขอให้ประชาชนงดกิจกรรมกลางแจ้ง และงดกิจกรรมทำให้เกิดฝุ่น กทม.-ปริมณฑลยังน่าห่วง

 

ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศ ประจำวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 พบปัจจัยที่ทำให้มีฝุ่นเกินค่ามาตรฐานในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มาจากสภาพอุตุนิยมวิทยามีความผันผวน ทำให้เพดานอากาศต่ำลงมาก อยู่ในระดับใกล้ผิวพื้น ประกอบกับความเร็วลมค่อนข้างต่ำ

ทำให้ฝุ่นสะสมหนาแน่นเพิ่มขึ้น พล ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ติดตามสภาพอุตุนิยมวิทยา  สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 และมีความห่วงใยต่อสุขภาพพี่น้องประชาชน กำชับให้ควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองอย่างเข้มข้น ตลอดถึงการเฝ้าระวังและการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนให้ดีที่สุด

 สถานการณ์คุณภาพอากาศ หลายพื้นที่มีค่าฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ พื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ตรวจวัดได้ 35.1 – 81.9 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ภาคเหนือ 19.2 - 91.4 มคก./ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  31.3 - 77.6มคก./ลบ.ม. ภาคกลางและตะวันตก 53.2 - 114.0 มคก./ลบ.ม. และภาคตะวันออก 45.1 - 86.5 มคก./ลบ.ม. (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม.)

สรุปสถานการณ์ฝุ่น

ข้อมูลจุดความร้อนจาก GISTDA ประเทศไทยมีจุดความร้อน (Hot Spot) ทั้งสิ้น 1,712 จุด เป็น พื้นที่ป่า 1,073 จุด นาข้าว 220 จุด เกษตรอื่น 167 จุด ข้าวโพด 81 จุด อ้อย 64 จุด และอื่นๆ 107 จุด จส่วนใหญ่พบในพื้นที่ป่า รวมถึงจุดความร้อนในประเทศเพื่อนบ้านกัมพูชา มีสูงถึง 2,591 จุด สถานการณ์คุณภาพอากาศในพื้นที่ กทม. มีแนวโน้มที่จะลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากลมเปลี่ยนทิศ โดยจะพัดพาจากตะวันตกเฉียงใต้ไปยังตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีการพัดพาฝุ่นละอองขนาดเล็กออกไปจากพื้นที่ได้ โดยเฉพาะ ช่วง 17-18 กุมภาพันธ์ นี้ จึงจะทำให้ฝุ่นละออง PM2.5 ลดลง

  พื้นที่ภาคเหนือ

ขอความร่วมมือลดการระบายฝุ่นที่แหล่งกำเนิดมลพิษ ลดหรืองดการใช้รถยนต์ โดยหันไปใช้รถสาธารณะ บำรุงเครื่องยนต์อย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล และงดการเผาทุกชนิด สำหรับในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ขอให้ประชาชนทุกคน งดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นทุกครั้งเมื่ออยู่กลางแจ้ง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์ผ่านทางเว็บไซต์ Air4Thai.com และ airbkk.com แอปพลิเคชัน Air4Thai และ Life Dee และหากต้องการข้อมูลด้านสุขภาพอนามัย สามารถสอบถาม ได้ที่สายด่วนกรมอนามัย 1478

สภาพอากาศ