6 สิ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นเป็นผู้นำด้านการกายภาพ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง?

28 เม.ย. 2567 | 10:14 น.

6 สิ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นเป็นผู้นำด้านการกายภาพ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง? : Healthcare Insight ธานี มณีนุตร์ [email protected]

ผมอยากชวนทุกท่านทำความเข้าใจบริบท (Context) ของประเทศญี่ปุ่น กับโรคหลอดเลือดสมองที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง เพราะอัตราการป่วยจากโรคหลอดเลือดสมองในประเทศสูงกว่าโรคโรคหัวใจถึง 3.5 เท่า จนโรคหลอดเลือดสมองได้รับขนานนามว่าเป็น “โรคประจำชาติ” ของประเทศญี่ปุ่น และยังสอดคล้องกับทิศทางของสังคมสูงวัยของญี่ปุ่นอย่างยิ่งยวด

ขณะเดียวกันนวัตกรรมด้านการดูแลผู้สูงอายุมีจำนวนมากที่ช่วยเติมเต็มศักยภาพและประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้ ขณะเดียวกันรัฐบาลและเอกชนญี่ปุ่นเร่งศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยหลอดเลือดสมองอยู่ตลอดเวลา ทั้งด้านยา การรักษา ฯลฯ ซึ่งการกายภาพบำบัดเป็นศาสตร์ที่จำเป็นต่อการฟื้นฟูผู้ป่วยหลอดเลือดสมองอย่างยิ่ง

โดยเหตุผลที่ประเทศญี่ปุ่นโดดเด่นด้านกายภาพนั้นมีหลายปัจจัยได้แก่

1.) มาตรฐานการศึกษาระดับประเทศ

ในทุกสถานศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรสำหรับนักกายภาพบำบัดที่ญี่ปุ่นนั้น จะต้องได้รับการตรวจสอบหลักสูตรการเรียนการสอนจากสถาบันกายภาพบำบัดแห่งประเทศญี่ปุ่น อีกทั้งในการสอบใบอนุญาตนักกายภาพบำบัด ผู้สอบจะต้องได้รับการศึกษาจากสถาบันที่ได้รับการรับรองจากสมาคมเท่านั้น

ส่งผลให้คุณภาพความรู้ของนักกายภาพบำบัดทั่วทั้งญี่ปุ่น “อยู่ในระดับมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ” นอกเหนือจากนี้ ทางสมาคมยังมีการจัดการอบรมสำหรับนักกายภาพบำบัดอยู่เป็นประจำเพื่อให้นักกายภาพบำบัดทุกคนได้รับความรู้ใหม่ๆ ในสายงานอยู่เสมอ

2.) องค์ความรู้ที่ทันสมัยและน่าเชื่อถือ จาก EBM (Evidence based medicine) & EBR (Evidence based rehabilitation)

เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นมีเคสผู้ป่วยหลอดเลือดสมองที่ต้องการการกายภาพบำบัดอยู่มาก นักกายภาพบำบัดญี่ปุ่นจึงมีแหล่งข้อมูลมหาศาลเพื่ออ้างอิงในการพัฒนาแผนการบำบัด ส่งผลให้การรักษาฟื้นฟูมีประสิทธิภาพและเห็นผลอย่างแท้จริง

6 สิ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นเป็นผู้นำด้านการกายภาพ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง?

3.) การดูแลแบบองค์รวม (Holistic care)

ในการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยหนึ่งคนต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาอาชีพ ทั้งแพทย์ทางเดินประสาท พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด นักวิทยาศาสตร์การกีฬา นักโภชนาการ โดยทีมนักบำบัด (นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด หมอ) และทีมดูแล (Care team ซึ่งประกอบด้วยพยาบาลและผู้ช่วยพยาบาล) สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการรักษาได้อย่างอิสระ และร่วมออกแบบแผนการฟื้นฟูร่วมกัน โดยมีจุดมุ่งหมายที่อยากให้ผู้ป่วยสุขภาพแข็งแรงและกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติที่สุด สามารถใช้ชีวิตที่บ้านได้อย่างราบรื่นเป็นจุดร่วม

4.) การวางแผนการบำบัดที่ปรับเปลี่ยนไปตามผู้ป่วยแต่ละคน (Personalized therapy plan)

การวางแผนการบำบัดของประเทศญี่ปุ่นไม่ได้มีรูปแบบตายตัว แต่จะเกิดจากการพิจารณาตามสภาพร่างกายและข้อจำกัด รวมถึงความต้องการของตัวผู้ป่วย จึงสามารถฟื้นฟูผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงตามความต้องการของผู้ป่วย

5.) การไม่ช่วยเหลือมากเกินไป เน้นให้ผู้ป่วยพึ่งพาตนเอง (Do not over care!)

จากวัฒนธรรมแล้ว คนญี่ปุ่นแล้วมักนิยมพึ่งพาตนเองเป็นหลัก การฝึกของญี่ปุ่นจึงเป็นการฝึกที่เน้นให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองโดยความช่วยเหลือจากญาติหรือผู้ดูแลเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการทำความสะอาดร่างกายที่ให้ผู้ป่วยได้อาบน้ำในห้องน้ำแทนการเช็ดตัวบนเตียง หรือการให้ผู้ป่วยจับช้อนรับประทานอาหารด้วยตัวเองแทนการป้อน จึงทำให้ผู้ป่วยได้ฝึกใช้ร่างกายของตัวเองอย่างเต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งยังทำให้ผู้ป่วยเคยชินกับการใช้ชีวิตเมื่อต้องกลับไปบำบัดต่อที่บ้านอีกด้วย

6.) การตั้งเป้าหมายเพื่อตัวผู้ป่วย

การกายภาพบำบัดของญี่ปุ่นไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับพัฒนาการทางด้านกายภาพของผู้ป่วยเพียงอย่างเดียว แต่ยังให้ความสำคัญกับความต้องการและการใช้ชีวิตหลังการบำบัดของผู้ป่วยด้วย โดยทีมนักบำบัดและทีมดูแล (Care team) จะสอบถามความหมายหรือความสุขในการใช้ชีวิตของผู้ป่วย และดำเนินการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำกิจกรรมนั้นๆ ได้อย่างดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัดทางร่างกายที่มีนั่นเอง

และจากเหตุผลที่กล่าวมาจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม ประเทศ ญี่ปุ่นถึง “ประสบความสำเร็จ” และเป็นผู้นำในด้านการกายภาพผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,986 วันที่ 25 - 27 เมษายน พ.ศ. 2567