NIA เปิดงานวิจัย ยกระดับอนาคตสุขภาพและสุขภาวะสังคมไทย

04 เม.ย. 2567 | 05:39 น.

NIA เปิดงานวิจัย “อนาคตสุขภาพและสุขภาวะสังคมไทย พ.ศ. 2576" เพื่อนำเสนอองค์ความรู้ด้านสุขภาพและสุขภาวะ ให้สังคมไทยให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ โดย บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (FutureTales LAB by MQDC) กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เปิดตัวงานวิจัย “อนาคตสุขภาพและสุขภาวะสังคมไทย พ.ศ. 2576 (Futures of Health and Wellness in Thailand 2033)” เพื่อนำเสนอองค์ความรู้ด้านสุขภาพและสุขภาวะ ประเด็นปัญหาสำคัญ สถานการณ์ปัจจุบัน สัญญาณการเปลี่ยนแปลง ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ ภาพอนาคต และข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพและสุขภาวะของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง 

NIA เปิดงานวิจัย ยกระดับอนาคตสุขภาพและสุขภาวะสังคมไทย

โดย ดร.ชัยธร ลิมาภรณ์วณิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์นวัตกรรม NIA ร่วมเสวนาในช่วง From Foresight to Function - กางแผนที่ ชี้เข็มทิศ ภาครัฐ เอกชน ชุมชน และผู้คนต้องทำอย่างไร เพื่อยกระดับอนาคตสุขภาพและสุขภาวะสังคมไทยให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน และจากผลการวิจัย ได้ภาพอนาคตสุขภาพและสุขภาวะสังคมไทย ออกมาเป็น 5 รูปแบบ ได้แก่

1. สิ้นแสงสาธารณสุข (Dusk of Healthcare) : ระบบสุขภาพเปราะบางย่ำแย่ ขาดแคลนทรัพยากร ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพได้

2. ระบบสุขภาพทั่วหล้า (Public Health Meridian) : ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพและเสมอภาค 

3. ค่ำคืนการแพทย์ขั้นสูง (MedTech Twilight) : ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูงช่วยยกระดับการบริการสุขภาพให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความปลอดภัยของข้อมูล และจริยธรรมจะกลายเป็นความเสี่ยงสำคัญ

NIA เปิดงานวิจัย ยกระดับอนาคตสุขภาพและสุขภาวะสังคมไทย

4. รุ่งอรุณสุขภาวะ (Dawn of Wellness) : ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานและการออกแบบพัฒนาเมืองเพื่อให้เกิดเมืองแห่งสุขภาวะ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น

5. สุขภาพสุขสมบูรณ์ (Zenith of Self-Care) : เกิดการกระจายศูนย์กลางของระบบสุขภาพโดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เน้นการให้บริการที่สะดวกสบาย ยืดหยุ่น และตอบสนองตามความต้องการของแต่ละบุคคล

สำหรับภาพอนาคตนี้ สะท้อนให้เห็นถึงประเด็นขับเคลื่อนที่กำลังสร้างผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงต่อระบบสุขภาพและสุขภาวะในสังคมไทย โดยมี 6 ประเด็นขับเคลื่อนสู่ภาพอนาคตที่สำคัญ ได้แก่

  1. การสร้างการตื่นรู้ด้านสุขภาพ (Health Actualization) ให้กับสังคมไทย
  2. การพัฒนาระบบสาธารณสุขเชิงรุก (Proactive Public Health System) อย่างเข้มแข็ง
  3. การเตรียมความพร้อมเพื่อตอบสนองต่อวิกฤติการณ์สาธารณสุข (Public Health Crises and Response) 
  4. การลงทุนในความก้าวหน้าด้านการดูแลสุขภาพ (Healthcare Advancement)
  5. การส่งเสริมให้เกิดการออกแบบพื้นที่เพื่อสุขภาพและสุขภาวะ (Healthy Space and Wellness Design)
  6. การส่งเสริมการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะรายบุคคล (Personalized Healthcare)

โดยนวัตกรรมจะเข้ามามีส่วนช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้เป็นอย่างมาก และเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับระบบสุขภาพและสุขภาวะของสังคมไทย ให้มีความยืดหยุ่นและตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ งานวิจัยที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นชุดข้อมูลและองค์ความรู้สำคัญสำ หรับกำหนดแนวทางเพื่อการพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพและสุขภาวะได้เป็นอย่างดี และช่วยสะท้อนภาพอนาคตของการพัฒนาระบบสุขภาพของสังคมไทยให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต