สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เผยเทรนด์ “กรีนไฟแนนซ์” หรือ “การเงินสีเขียว” ถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศ พร้อมวางแนวทางการสนับสนุนเงินทุนสำหรับส่งเสริมและเร่งสร้างการเติบโตให้กับสตาร์ทอัพและผู้ประกอบธุรกิจนวัตกรรมไทยที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ ผ่านโครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน ปี 2567 ด้านนวัตกรรมเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อม
และโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมรายสาขา ใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้านความเชื่อมโยงระหว่างอาหาร น้ำ และพลังงาน ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน และด้านการจัดการภัยพิบัติ ภายใต้ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม ที่ได้จัดสรรงบประมาณรองรับกว่า 20 ล้านบาท
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ เปิดเผยว่า การที่ประเทศไทยวางเป้าหมายขับเคลื่อนประเทศไปสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ (Net Zero) ให้ได้ในปี 2593 เป็นเสมือนกลไกผลักดันให้ทุกภาคส่วนเกิดความตื่นตัวและเห็นความสำคัญของการนำนวัตกรรมมาเป็นเครื่องมือช่วยลดผลกระทบจากวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
รวมถึงแนวโน้มการเกิด “ภาวะโลกเดือด (Global Boiling)” ตามที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ทั้งอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นและร้อนที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ โดยเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา องค์กรอุตุนิยมวิทยาโลกได้รายงานว่าเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดในรอบ 60 ปี
จากวิกฤตการณ์ระดับโลกดังกล่าว ภาคธุรกิจจึงควรเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนและลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น รวมถึงการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และการใช้หลักธรรมาภิบาล จึงทำให้แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืนที่เรียกว่า ESG (Environment, Social, และ Governance) กลายเป็นดัชนีชี้วัดที่นักลงทุนใช้ประกอบการพิจารณาลงทุนซึ่งถูกนำไปใช้แล้วทั่วโลก
นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งเทรนด์ที่กำลังมาแรงนั่นคือ “Green Finance (การเงินสีเขียว)” ซึ่งเป็นเครื่องมือของ “โลกการเงิน” ที่จะช่วยกอบกู้โลกจากวิกฤตการณ์ด้านสภาพอากาศ (Climate Change) โดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นการเพิ่มกระแสการเงินไม่ว่าจะจากธนาคาร การให้สินเชื่อ การประกันภัย และการลงทุน ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนให้ไหลไปสู่กิจกรรมของโลกธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน และมีจุดสำคัญอยู่ที่การบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมให้ดีขึ้น คว้าโอกาสการให้ผลตอบแทนและประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน เพื่อนำไปสู่การดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น
“Green Finance ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แต่เป็นเทรนด์ระดับโลกที่เดินหน้ามาอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากรายงานมูลค่าการออก ESG Bond หรือ ตราสารหนี้ด้านความยั่งยืนในอาเซียนที่มีการขยายตัวอย่างมากในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2564 มีมูลค่ามากถึง 165.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.5 ล้านล้านบาท) ซึ่งมากกว่าช่วงปี 2563 ที่ 91.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนในประเทศไทยนับตั้งแต่มีการออก ESG Bond ครั้งแรก เมื่อปี 2562 มูลค่าการออก ESG Bond ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี จากยอดการออกที่ 29,040 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมาที่ 173,800 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 และมีขยายตัวเกือบ 6 เท่าในช่วง 3 ปี รวมทั้งมีผู้ออกทั้งจากภาครัฐและเอกชนเพิ่มมากขึ้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อนำเงินไปใช้สำหรับโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเกิดประโยชน์ต่อสังคม เช่น การคมนาคมขนส่ง อุตสาหกรรมพลังงาน เป็นต้น”
ดร.กริชผกา กล่าวเพิ่มเติมว่า NIA ในฐานะ “ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม” (Focal Conductor) พร้อมเชื่อมโยงความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพ กิจการเพื่อสังคม และผู้ประกอบการไทยให้เป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ฐานนวัตกรรม โดยเฉพาะนวัตกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม เพื่อสอดรับกับเทรนด์โลกที่มุ่งสู่การสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิด “การเงินสีเขียว” เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยปีที่ผ่านมา NIA ได้ให้การสนับสนุนโครงการนวัตกรรมที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมไปแล้วกว่า 25 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการสนับสนุนกว่า 20 ล้านบาท กระจายอยู่ทั้งในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร และในส่วนภูมิภาค ครอบคลุมทั้งปัญหาการจัดการสภาพอากาศ ไฟป่า ยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานทางเลือก การบริหารจัดการขยะและสิ่งเหลือใช้ รวมทั้งการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งในเมืองและการทำเกษตรกรรมยั่งยืน”
“NIA ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างให้เห็นภาพที่ชัดเจนของวิธีลดผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงโดยอาศัยโซลูชันจากธุรกิจนวัตกรรมเป็นแรงขับเคลื่อน และยังทำให้เห็นถึงระบบการเงินรูปแบบใหม่ที่ไม่ได้อยู่ในเพียงรูปแบบเงินกู้ยืม การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์สีเขียว หรือการเช่าซื้อสีเขียว ฯลฯ แต่จะสะท้อนให้เห็นไอเดียสร้างสรรค์ที่สามารถแปลงสิ่งเหล่านี้ให้เป็นการได้รับทุนสนับสนุนเพื่อนำไปต่ยอดทางธุรกิจ และหลังจากธุรกิจเกิดขึ้นก็ยังทำให้เกิดผู้ใช้ ผู้ได้รับผลกระทบเชิงบวก ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงในมิติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงระบบนิเวศของธุรกิจนวัตกรรมที่ไม่ได้มุ่งแค่เพียงผลกำไรเพียงอย่างเดียว
ทั้งนี้ NIA พร้อมเดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุน “การเงินสีเขียว” ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น เพื่อเชื่อมต่อสู่การลงทุนแบบคำนึงผลกระทบเชิงบวกต่อไปในอนาคต”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง