5 จุดสังเกตของ "เห็ดขี้ควาย" อย่าเผลอกินอันตรายถึงชีวิต

27 มี.ค. 2567 | 16:55 น.
อัปเดตล่าสุด :27 มี.ค. 2567 | 16:55 น.
3.2 k

กรมควบคุมวัตถุเสพติด เผย เห็ดขี้ควายมีสารอันตรายมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง เกิดอาการคลื่นไส้ ประสาทหลอน แนะ 5 จุดสังเกตลักษณะเด่นของ "เห็ดขี้ควาย" ย้ำ อย่าเผลอรับประทานอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ 

จากกรณีที่มีกระแสการลักลอบจำหน่าย เห็ดขี้ควาย หรือ เห็ดเมา ในบางกลุ่มนิยมนำมากินเพื่อให้เกิดอาการมึนเมาขณะที่เชื่อว่า บางคนอาจไม่ทราบ นึกว่าเป็น เห็ดธรรมดาทั่วไปที่สามารถรับประทานได้นั้น วันนี้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับลักษณะของ เห็ดขี้ควาย หรือ เห็ดเมา มาฝากเพื่อเป็นจุดสังเกตให้ระมัดระวังกันอย่าเผลอรับประทานกันเข้าไปเพราะอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ 

เห็ดขี้ควาย (psilocybe mushroom) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Psilocybe cubensis Sing  วงศ์ Strophariaceae  สารเคมีที่สำคัญในเห็ดขี้ควาย มี 2 ชนิด คือ psilocybine และ psilocine  ซี่งเมื่อ psilocybine  เข้าร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็น psilocine ทั้ง psilocybine และ psilocine ไม่มีประโยชน์ทางการแพทย์

ชื่อสามัญ/ชื่อเรียกทั่วไป 

เห็ดขี้ควาย / Psilocybe mushroom / บางแห่งเรียกเห็ดโอสถลวงจิต ในบรรดานักเที่ยวอาจเรียกเห็ดขี้ควาย ว่า "Magic Mushroom" / Buffalo dung Mushroom

ลักษณะของเห็ดขี้ควาย  

1.ลักษณะหมวกเป็นรูปกระทะคว่ำแล้วแบนลง เส้นผ่านศูนย์กลาง 6.5-8.8 เซนติเมตร 

2.ผิวสีฟางข้าวอมเหลือง กลางหมวกมีสีน้ำตาลอมเหลือง มีเกล็ดเล็ก ๆ กระจายออกไปยังขอบหมวก 

3.ขอบมีริ้วสั้น ๆ โดยรอบ ครีบสีน้ำตาลดำ ส่วนกลางกว้างกว่า ปลายทั้งสองข้าง ไม่ยึดติดกับก้าน 

4.ก้านยาว 4.5-8 เซนติเมตรความสูงของลำต้นประมาณ 5.5-8 ซม.โคนใหญ่กว่าเล็กน้อย

5.สปอร์ รูปรี สีน้ำตาลดำ ผนังหนา ผิวเรียบ ด้านบนมีปลายตัดเป็นรูเล็ก ๆ   

บริเวณที่พบโดยทั่วไป 

เห็ดขี้ควาย มีขึ้นอยู่ทั่วไปในแทบทุกภาคของประเทศไทย เห็ดชนิดนี้ชอบขึ้นเป็นดอกเดี่ยวกลุ่มละ 4-5 ดอก บนพื้นดินที่มีมูลสัตว์พวกมูลวัว มูลควายแห้ง มีผู้นำไปเสพทั้งรูปแบบสดและแห้ง บางครั้งนำมาปรุงเป็นเมนูอาหารหรือเครื่องดื่มในกลุ่มนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี อย่างไรก็ดี คนทั่วไปมักทราบและรู้ว่า เห็ดนี้ เป็นเห็ดพิษ รับประทานแล้วจะมึนเมา จึงไม่มีการนำมารับประทาน

อาการผู้เสพ

เมื่อบริโภคเข้าไปจะทำให้มีอาการเมา เคลิบเคลิ้มและบ้าคลั่งในที่สุด เนื่องจากสาร psilocybine และ psilocine มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ประสาทหลอน เห็นภาพแสงสีต่าง ๆ ลวงตา เช่น เห็นแมงมุมหรือสัตว์ประหลาดลงไปในท้อง รู้สึกมีเข็มมาทิ่มแทงตามตัว ได้ยินเสียงฟ้าร้อง ฟ้าผ่า สับสน ไม่สามารถลำดับทิศทางได้ มีความคิดและอารมณ์เปลี่ยนแปลง มีอาการคล้ายผู้ที่เสพ LSD คนที่ใช้มานานๆ จะเพลินต่อความรู้สึกต่างๆ ร่างกายจะเกิดการต้านยา ต้องเพิ่มขนาดการเสพขึ้นเรื่อยๆ

บางรายเมื่อบริโภคเข้าไปทำให้มีอาการเมาเคลิบเคลิ้มและบ้าคลั่งในที่สุด นอกจากนั้นหากบริโภคเข้าไปมาก ๆ หรือผู้ที่มีภูมิต้านทานน้อยจะทำให้อันตรายถึงแก่ชีวิต เพราะเห็ดชนิดนี้มีลักษณะและโทษเช่นเดียวกับยาเสพติด

การควบคุมตามกฎหมาย

เห็ดขี้ควาย ซึ่งหมายถึง พืชที่ให้สาร psilocybine หรือ psilocine และรวมถึงส่วนต่างๆ ของพืชดังกล่าว เป็นต้นว่า ดอกเห็ด ก้านเห็ด สปอร์ของเห็ดดังกล่าว จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด

ข้อมูล กองควบคุมวัตถุเสพติด