30 บาทรักษาทุกที่ ใช้บัตรประชาชนใบเดียว ทำอะไรได้

21 มี.ค. 2567 | 00:15 น.
786

อัปเดตนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ใช้ทำอะไรเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้เข้าถึงการบริการด้านสุขภาพ ครอบคลุมทุกช่วงวัยตามเป้าหมายของรัฐบาล

รัฐบาลประกาศเดินหน้านโยบายยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สิทธิบัตรทอง 30 บาท โดยให้ประชาชน ใช้เพียง "บัตรประชาชนใบเดียว" เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลทุกเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการได้ จนถึงวันนี้เดินเข้าสู่เฟสที่ 2 แล้ว รวมระยะเวลาตั้งแต่การขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยใบประชาชนใบเดียว ให้บริการประชาชนแล้วรวม 12 จังหวัด แบ่งออกเป็น

เฟสแรก เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 รวม 4 จังหวัด

1.แพร่ 

2.เพชรบุรี 

3.ร้อยเอ็ด

4.นราธิวาส 

เฟสที่ 2 เริ่มเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 รวม 8 จังหวัด

5.เพชรบูรณ์ 

6.นครสวรรค์ 

7.สิงห์บุรี 

8.สระแก้ว 

9.หนองบัวลำภู 

10.นครราชสีมา

11.อำนาจเจริญ

12.พังงา 

ทั้งนี้ สำหรับเฟสที่สองนี้กระทรวงสาธารณสุขเตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการช่วงปลายเดือนมีนาคม 2567 นี้ที่จังหวัดนครราชสีมา ในขณะที่ประชาชนใน 8 จังหวัดดังกล่าวสามารถเข้ารับบริการได้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา   

สำหรับบริการที่ประชาชนจะได้รับนั้น ตามมติของคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ระบุไว้มีทั้งหมด 5 บริการด้วยกัน ประกอบด้วย

1.การใช้บัตรประชาชนใบเดียวในการรับบริการได้ทุกที่โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว 

ด้วยทางกระทรวงสาธารณสุขได้นำเทคโนโลยีที่มีความล้ำหน้า ทันสมัย สามารถเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของสถานพยาบาลได้เลย ดังนั้น ผู้ป่วยจึงไม่จำเป็นต้องการเขียนใบส่งตัว ซึ่ง สปสช. ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมของระบบข้อมูลให้เชื่อมโยงถึงกันทุกแห่ง ตั้งเป้าภายในสิ้นปีนี้คนไทยจะต้องสามารถ ใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ ตามเป้าหมายที่กระทรวงสาธารณสุขวางไว้

2.การรักษามะเร็งครบวงจร 

ให้บริการครอบคลุมตั้งแต่ การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มเด็ก การคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม หากตรวจพบก็จะถูกส่งต่อเข้ารับการรักษาต่อไปได้

3.การเข้าถึงบริการในเขตเมือง โดยเฉพาะ กทม.

โดยได้ทยอยเพิ่มหน่วยบริการให้มากขึ้นซึ่งเป็นจุดที่หน่วยบริการยังมีน้อย รวมทั้งการประสานร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเชิญเอกชนเข้ามาร่วมโครงการฯเพื่อให้บริการเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ ร้านยา คลินิกการพยาบาลฯ คลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม คลินิกแพทย์แผยไทย และคลินิกเทคนิคการแพทย์ ที่ขึ้นทะเบียนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 

4.สถานชีวาภิบาล หรือการดูแลระยะสุดท้าย 

จากเดิมจะดูแลในโรงพยาบาลแต่เนื่องจากข้อมูลพบว่า มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ต้องการกลับไปพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน โดยการดูแลระยะท้ายจะได้รับการดูแลโดยมีหลักวิชาการ ทั้งด้านแพทยศาสตร์และสังคมศาสตร์ซึ่งจะบูรณาการความร่วมมือทั้งหน่วยงานทางสังคม เช่น วัดในชุมชนร่วมกับโรงพยาบาล เป็นต้น

5.การดูแลสุขภาพจิต 

ได้มีการพัฒนาและขับเคลื่อนลงไปในระดับชุมชน ในขณะที่ สปสช. มีสายด่วน 1330 อยู่แล้วจะเป็นตัวกลางในการประสานงาน รวมทั้งมีช่องทางให้ความรู้    ผ่านทาง เฟซบุ๊ก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ Line OA สปสช. ร่วมด้วย 

คลิกตรวจสอบ รายชื่อหน่วยบริการเอกชนบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่