นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟชบุ๊กส่วนตัว (Yong Poovorawan) โดยมีข้อความเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด19 ว่า
วัคซีน ใช้ในการป้องกันโรค ประโยชน์ที่ได้ต้องมากกว่าการข้างเคียงมาก
วัคซีนมาจากรากศัพท์คำว่า “Vacca” แปลว่าวัว วัคซีนตัวแรก คือวัคซีนไข้ทรพิษ หรือฝีดาษ ได้มาจากหนองฝีดาษของวัว มาใช้ป้องกันฝีดาษของคน
วัคซีนทุกตัวที่ใช้อยู่ รวมทั้งยาด้วย มีอาการข้างเคียงได้ การใช้จึงต้องคำนึงถึง ประโยชน์ที่ได้ มาเปรียบเทียบ
วัคซีนโปลิโอชนิดหยอดหรือกิน ก็สามารถทำให้เกิดโรคโปลิโอได้ แต่โอกาสที่จะเกิดเป็นหนึ่งในล้านหรือหลายล้าน เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ได้หยอดโปลิโอแล้ว เกิดโรคโปลิโอจากธรรมชาติเกิดได้มากกว่ามาก การหยอดโปลิโอ จึงมีความคุ้มค่า แต่เมื่อโรคโปลิโอจากธรรมชาติกำลังจะหมดไป หรือน้อยมากๆ
การหยอดโปลิโอแล้วเกิดอาการข้างเคียงแม้กระทั่งหนึ่งในล้าน เพราะเป็นเชื้อเป็น จึงก่อโรคได้ เราก็ไม่ต้องการ เราจึงจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนวัคซีนโปลิโอ อย่างกินเป็นยาฉีดหรือเชื้อตาย เชื่อตายไม่ทำให้เกิดโรคโปลิโอแน่นอน สถานการณ์ และช่วงระยะเวลา จะเป็นตัวบอก ว่าควรใช้ หรือไม่ควรใช้ และควรใช้ชนิดใด
เช่นเดียวกันกับโรคโควิด 19 ในระยะแรกที่เริ่มมีการระบาด โอกาสลงปอดเกิดปอดบวม และเสียชีวิต เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก อัตราการตายโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3 ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ (ประเทศไทยอยู่ที่ 1%) ณ เวลานั้น
ถ้าดูความเสี่ยงของการเกิดโรคและเสียชีวิตแล้ว เป็นจำนวนมากจริงๆ วัคซีนป้องกันโควิด 19 จึงเข้ามามีบทบาทอย่างเร่งด่วน เพื่อลดความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิต จึงมีวัคซีนเกิดขึ้นหลายชนิด และให้กับประชากรทั่วโลกหลายพันล้านคน
อาการข้างเคียง เมื่อให้เป็นล้านๆคน แน่นอนก็จะพบได้ เช่นการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ในวัคซีนชนิดไวรัสเวกเตอร์ การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ในวัคซีน mRNA พบได้ 1 ในหมื่นหรือแสน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับความเสี่ยง กับการเกิดปอดบวม และเสียชีวิตแล้ว ซึ่งมากกว่ากันมาก วัคซีนจึงมีความคุ้มค่าในการป้องกันโรคในภาพรวม จึงมีการฉีดวัคซีนกันมากทั่วโลก
มาถึงยุคปัจจุบัน ความรุนแรงของโรคโควิด 19 ลดน้อยลงอย่างมาก โอกาสเกิดปอดบวม ต้องนอนโรงพยาบาล หรือเสียชีวิต น้อยลงมาก ความรุนแรงของโรคใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่ โอกาสเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดในกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเสี่ยงที่ร่างกายอ่อนแอ โรคเรื้อรัง วัคซีนจึงมีประโยชน์ในกลุ่มดังกล่าวโดยเปรียบเทียบระหว่างผลที่ได้ กับความรุนแรงของโรคที่จะเกิดขึ้น
ในคนปกติ ที่แข็งแรงดี จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับวัคซีน ก็เป็นไปตามกาลเวลา เพราะสถานการณ์จากตอนแรกมาถึงปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก
วัคซีนไข้หวัดใหญ่เองขณะนี้ ก็มีการแนะนำให้ในผู้ที่เปราะบาง หรือกลุ่มเสี่ยงอายุมาก ร่างกายอ่อนแอจากโรคเรื้อรัง และเราก็ให้กันมาทุกปีในกลุ่มดังกล่าว วัคซีนไข้หวัดใหญ่ก็สามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงได้เช่น เส้นประสาทอักเสบ (Guillan Barre Syndrome) แต่โอกาสเป็นหนึ่งในแสนหรือหลายๆแสน
เมื่อความรุนแรงของโรคโควิด 19 ลดน้อยลง ความต้องการของวัคซีนก็ลดลงอย่างมาก ตลาดของวัคซีนจึงเป็นของผู้ซื้อ ไม่เหมือนตอนแรกที่อัตราตายสูง ตลาดของวัคซีนเป็นของผู้ขาย ราคาของวัคซีนก็ไม่ควรจะแพงกว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยเปรียบเทียบความคุ้มค่า ในการให้ผู้ที่เปราะบางเท่านั้น และการให้ก็จะมีการคำนึงถึงอาการข้างเคียงมากขึ้น