รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความระบุถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 ว่า
Update สายพันธุ์ BA.2.86.x
การระบาดที่นำโดย JN.1 หรือ BA.2.86.1.1 นั้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั้งจากการพัฒนาของตัวไวรัสให้หลบภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น
และจากพฤติกรรมการป้องกันตัวระหว่างใช้ชีวิตประจำวันของคนทั่วโลกที่ลดลง
ปัจจุบัน BA.2.86 นั้นแตกหน่อต่อยอดไปมาก โดยมีทั้งที่กลายพันธุ์โดยตัวมันเอง และการผสมข้ามสายพันธุ์
Long COVID หรือ Post-COVID conditions
ทีมงานจากประเทศแคนาดาเคยทำการรีวิวไว้ตั้งแต่ปีก่อน ลงในวารสาร eBioMedicine เกี่ยวกับการตรวจสารเคมีและตัวบ่งชี้ต่างๆ ที่พบว่าผิดปกติในผู้ป่วย Long COVID จำแนกตามระยะเวลาของอาการ และประเภทของอาการที่ผู้ป่วยเป็น
การติดเชื้อแล้วเกิดปัญหาเรื้อรังนั้น แม้โอกาสไม่มาก ราว 6.2% ทั่วโลก แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วอาจส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย
ทั้งภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ ภูมิคุ้มกันในน้ำเลือด รวมถึงการเกิดกระบวนการอักเสบเรื้อรัง การกระตุ้นไวรัสอื่นที่แฝงในร่างกาย และอื่นๆ
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจที่จำเพาะ และยังไม่มีวิธีรักษามาตรฐาน โดยผู้ป่วยทั่วโลกที่ประสบภาวะนี้มีจำนวนมาก แปรผันไปตามจำนวนผู้ติดเชื้อที่มาก ผู้หญิง คนสูงอายุ คนมีโรคประจำตัว คนติดเชื้อแล้วป่วยนอนรพ.
และคนที่ไม่ได้รับวัคซีน จะมีความเสี่ยงที่จะเกิด Long COVID ได้มากกว่ากลุ่มอื่น
ดังนั้นการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด
เรื่องการติดเชื้อซ้ำนั้น ตามการเสวนา Webinar ล่าสุดเมื่อสองวันก่อนขององค์การอนามัยโลก ก็เน้นย้ำให้ทราบกันจากผลการวิจัยว่า
การติดซ้ำ ยิ่งมากครั้งยิ่งไม่ใช่เรื่องดี เพิ่มความเสี่ยงต่อป่วย ภาวะแทรกซ้อน และปัญหาเรื้อรังได้
พฤติกรรมป้องกันตัวพื้นฐานนั้นสำคัญ การใส่หน้ากาก เลี่ยงที่แออัด ไม่แชร์ของกินของใช้กับผู้อื่น ล้างมือหลังจับต้องสิ่งของสาธารณะ และอยู่ห่างจากคนป่วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งไอจาม