โรคหยุดหายใจขณะหลับ เช็คสัญญาณร้าย-อาการเสี่ยงของโรค

31 ม.ค. 2567 | 00:05 น.

ชวนทำความรู้จักกับ "โรคหยุดหายใจขณะหลับ" หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หลังประกันสังคมให้ผู้ประกันตนสามารถเบิกค่า Sleep Test ได้ซึ่งเราสามารถสังเกตอาการเบื้องต้นพร้อมเช็คสัญญาณเสี่ยงของการเกิดโรคนี้ได้

หลังจากที่สำนักงานประกันสังคมได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนที่ป่วยโรคหยุดหายใจขณะหลับโดยสามารถเบิกค่า Sleep test ได้นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" พาไปทำความรู้จักกับ โรคหยุดหายใจขณะหลับ หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ว่าคนกลุ่มไหน ใครที่มีความเสี่ยง และมีอาการหรือสัญญาณเบื้องต้นที่จะสามารถบอกเราได้ว่า กำลังป่วยเป็นโรคนี้อยู่

จากข้อมูลของโรงพยาบาลพญาไท ได้อธิบายถึงสัญญาณเตือนและอาการทางร่างกายที่กำลังบอกเราว่า กำลังเผชิญกับ "ภาวะหยุดหายใจขณะนั้นไว้เพื่อให้เราได้ลองสังเกตตัวเอง ดังนี้

หากตื่นเช้าขึ้นมาแล้วเรารู้สึกไม่ค่อยสดใสเหมือนนอนไม่อิ่ม ทั้ง ๆ ที่นอนหลับไปนานถึง 6-8 ชั่วโมงแล้วก็ตาม เมื่อถึงช่วงกลางวันกลับรู้สึกง่วง เพลีย บางครั้งอาจมีอาการปวดศีรษะ สมองไม่แล่น คิดหรือตัดสินใจได้ช้ากว่าที่เคย รู้สึกอารมณ์เสียง่าย หงุดหงิดบ่อย และเมื่อถึงเวลาเข้านอนในตอนกลางคืนก็มักมีอาการกระสับกระส่าย มีการสะดุ้งตื่นแล้วหอบหายใจเฮือกเหมือนกำลังสำลักน้ำ

อาการเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณเตือนที่บอกว่า เรากำลังเผชิญกับ "ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ" ที่มากกว่าการนอนกรนปกติซึ่งภาวะนี้เกิดจากมีการปิดกั้นของระบบทางเดินหายใจส่วนต้น 

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้าง?

มีการศึกษาพบว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นทางเดินหายใจนั้น เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคต่างๆ ได้ เช่น

  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคเบาหวาน
  • ภาวะดื้อต่ออินซูลิน เสี่ยงโรคเบาหวาน
  • ภาวะอ้วนลงพุง เสี่ยงโรคอ้วน

ทั้งยังพบว่า ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ มักมีโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง รวมถึงภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะร่วมด้วย

ใครบ้าง? ที่เสี่ยงหยุดหายใจขณะหลับ

การเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับยังมักเกิดกับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ดังนี้

1.ผู้ที่เป็นโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน โดยจากสถิติพบว่า ร้อยละ 60 ของผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับมักจะเป็นผู้มีน้ำหนักตัวเกินหรือเป็นโรคอ้วน 

2.ผู้ที่มีน้ำหนักปกติแต่มีโครงสร้างใบหน้าและกะโหลกศีรษะผิดรูป คอหนา คางเล็กหรือสั้น   ต่อมทอนซิลและอดีนอยด์โต   ลิ้นโตกว่าปกติ 

3. ผู้ที่มีปัญหาคัดจมูก หายใจไม่สะดวกจากโพรงจมูกบวม หรือมีโครงสร้างจมูกผิดปกติ 

4.ผู้ที่เป็นโรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย หรือทำงานลดลง (Hypothyroid)

5.ผู้ที่เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงบางชนิด 

6.ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ

7.ผู้ที่ใช้ยานอนหลับเป็นประจำ 

8.ผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน

คำแนะนำ 

ผู้ที่มีความเสี่ยงไม่ควรนิ่งนอนใจที่จะเข้ารับการทดสอบ "ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ" ที่เรียกว่า "Sleeping Test" เพื่อให้ทราบถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการนอน

การทดสอบ Sleep Test เป็นการช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรค และการหยุดหายใจขณะหลับจนกระทั่งเสียชีวิต โดยแพทย์จะแนะนำการปรับพฤติกรรม ทำการรักษาตามสาเหตุและระดับความรุนแรงเพื่อเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตและฟื้นฟูสุขภาพให้กับผู้ป่วย ทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว


ข้อมูล โรงพยาบาลพญาไท