ผู้ประกันตน ป่วยโรคหยุดหายใจขณะหลับเบิกค่ารักษา Sleep test ได้แล้ว

26 ม.ค. 2567 | 13:30 น.

ข่าวดี ผู้ประกันตน ม.33 ม.39 "ประกันสังคม" ประกาศหลักเกณฑ์ เงื่อนไขกรณีเจ็บป่วยหยุดหายใจขณะหลับซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ จ่ายจริงไม่เกิน 7,000 บาท มีผลบังคับใช้แล้ว เช็ครายละเอียดทั้งหมดได้ที่นี่ 

สำนักงานประกันสังคม แจ้งข่าวดี ผู้ประกันตนมาตรา 33 (ม.33) และมาตรา 39 (ม.39) โดยประกาศหลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงานเพื่อคุ้มครองผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคหยุดหายใจขณะหลับ เนื่องจากคนวัยทำงานมีภาวะดังกล่าวทำให้มีอุปสรรคต่อการทำงานซึ่งอาจทำให้เกิดความผิดปรกติอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง เนื่องจากออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ

สำหรับสิทธินี้ครอบคลุมการรักษาตั้งแต่การวินิจฉัยทางการแพทย์ ในกลุ่มคนที่มีสัญญาณบ่งบอกว่า จะเข้าข่ายโรคดังกล่าว ค่าอุปกรณ์ และอุปกรณ์เสริมสำหรับการรักษาโดยให้มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค. 67 เป็นต้นไป 

ค่าตรวจการนอนหลับ (Polysomnography) ชนิดที่ 1

  • มีเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามขณะตรวจทั้งคืน
  • จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 7,000 บาท

ค่าตรวจการนอนหลับ (Polysomnography) ชนิดที่ 2

  • ไม่มีเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามขณะตรวจ
  • จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 6,000 บาท

ค่าเครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า (CPAP)

  • สำหรับผู้ป่วยนอนกรนและหยุดหายใจขณะนอนหลับ ชุดละ 20,000 บาท

หน้ากากครอบจมูกหรือปากที่ใช้กับเครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า

  • ชิ้นละ 4,000 บาท

คลิกอ่านฉบับเต็ม ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน