"หมอยง"ยันไวรัส hMPV human metapneumovirus ไม่ใช่ชนิดใหม่

17 ม.ค. 2567 | 08:31 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ม.ค. 2567 | 08:31 น.

"หมอยง"ยันไวรัส hMPV human metapneumovirus ไม่ใช่ชนิดใหม่ ระบุถูกวินิจฉัยครั้งแรกราวประมาณกว่า 20 ปีมาแล้ว ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ Erasmus University จากเด็กที่ป่วยมีอาการหนัก และตรวจไม่พบไวรัสที่พบบ่อย

นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งโพสต์เฟชบุ๊กส่วนตัว (Yong Poovorawan) โดยมีข้อความเกี่ยวกับไวรัสชนิดใหม่ ว่า

ไวรัส hMPV human metapneumovirus ที่มีการแชร์ข่าวว่า อันตรายจากไวรัสใหม่

มีการแชร์ข่าว ถึงให้ระวังไวรัสตัวใหม่ Human Mepneumovirus การที่บอกว่าเป็นไวรัสตัวใหม่ ไม่เป็นความจริง 

ไวรัสนี้ถูกวินิจฉัยครั้งแรกราวประมาณกว่า 20 ปีมาแล้ว ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ Erasmus University ครั้งแรกคิดว่าเป็นไวรัสใหม่ 

โดยพบจากเด็กที่ป่วยมีอาการหนัก และตรวจไม่พบไวรัสที่พบบ่อย จึงได้ทำการตรวจหาทางชีวโมเลกุล 

"หมอยง"ยันไวรัส hMPV human metapneumovirus ไม่ใช่ชนิดใหม่

และพบสารพันธุกรรมคิดว่าเป็นไวรัสใหม่ เมื่อตรวจสอบสารพันธุกรรมไวรัสนี้อยู่ในกลุ่มของ พารามิกโซไวรัส และใกล้เคียงกับไวรัสที่พบในนก 

จึงคิดว่าเป็นไวรัสที่ติดมาจากนก เมื่อเอาตัวอย่างที่มีไวรัสหยอดจมูกให้ไก่งวง ไก่งวงไม่เป็นโรค 

แต่เมื่อหยอดให้ลิง ลิงป่วยเป็นหวัด จึงรู้ว่าไม่ใช่ไวรัสที่มาจากนก จึงตั้งชื่อว่า human metapneumovirus หรือ hMPV และเมื่อเอาเลือดของคนที่เก็บไว้เมื่อ 50 ปีมาแล้วมาตรวจปฏิกิริยาภูมิต้านทาน ก็พบว่า

ผู้ใหญ่หรือเด็กโตส่วนใหญ่เคยเป็นมาแล้ว ก็แสดงว่าไวรัสนี้มีมาแต่เดิมกว่า 50 ปีมาแล้ว และพึ่งมาวินิจฉัยได้ด้วยหลักการตรวจใหม่

ทางศูนย์ของเราได้ตรวจในตัวอย่างเด็กไทย เมื่อประมาณกว่า 20 ปีมาแล้วและตรวจทุกอย่างสม่ำเสมอมาตลอด พบว่าในเด็กไทยที่ป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจจะพบไวรัสนี้ได้ประมาณ 4-8%  จึงไม่ได้เป็นไวรัสใหม่แต่อย่างใด 

โรคนี้พบได้ทุกวัย แต่จะพบมากในวัยเด็กเล็กและผู้สูงอายุ เช่นเดียว กับโรคไวรัสทางเดินหายใจอื่น 

ในปัจจุบันมีการพัฒนาวิธีการตรวจได้ง่ายขึ้น จึงมีการพูดถึงกันมากขึ้น แต่ไวรัสนี้ไม่ได้เป็นไวรัสใหม่ เป็นไวรัสตัวหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจเช่นเดียวกับไวรัสอื่นๆอีกเป็นจำนวนมาก จึงไม่ได้มีอะไรให้ตื่นตระหนก 

ผลงานการศึกษาไวรัสนี้ในประเทศไทย เราเผยแพร่ในระดับสากลมาโดยตลอด โดยทำการศึกษาตั้งแต่ปี 2001  และเผยแพร่ใน ปี 2003 (Scand J Infect Dis. 2003;35(10):754-6. doi: 10.1080/00365540310000094)