จากกรณีที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ จุฬาฯ และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก ม.รังสิต ออกแถลงการณ์ผลกระทบวัคซีนและภาวะลองโควิด 19 ว่า มีปัญหาจริง ขอให้ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นและให้รัฐช่วยผู้รับผลกระทบดังกล่าวนั้น
ล่าสุดวันนี้ 15 มกราคม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ออกแถลงการณ์ เรื่อง ข้อเท็จจริงสถานการณ์ภาวะลองโควิด 19 และผลกระทบของวัคซีนโควิด 19 ระบุว่า
ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูล เรื่อง สถานการณ์ภาวะลองโควิด 19 และผลกระทบของวัคซีนโควิด 19 ทางสื่อออนไลน์และได้มีการส่งต่อข้อมูลดังกล่าวในวงกว้าง สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่เกี่ยวข้อง คณะผู้เชี่ยวชาญทางด้านภูมิคุ้มกันวิทยาของประเทศ รวมทั้งองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย ได้ร่วมกันพิจารณาข้อมูลดังกล่าวแล้ว
พบว่า ข้อมูลดังกล่าวยังมีคลาดเคลื่อนในหลายประเด็น และการส่งต่อข้อมูลดังกล่าวในวงกว้าง อาจเป็นสาเหตุทำให้ประชาชนเกิดความสับสน มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและทำให้เกิดความตื่นตระหนกในสังคมได้
สถาบันวัคซีนแห่งชาติ จึงขอชี้แจงเบื้องต้น ดังนี้
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า ความเข้าใจในปัจจุบันเกี่ยวกับสาเหตุของภาวะลองโควิดและสาเหตุที่ผู้คนได้รับผลกระทบหนักเบาไม่เท่ากันนั้นยังมีจำกัด จึงยังคงจำเป็นต้องมีการติดตามผลกระทบ รวมถึงการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เข้าใจถึงสาเหตุและการดำเนินของโรคได้อย่างแท้จริง
จากข้อมูลในช่วงเวลาที่ผ่านมา พบว่า อาการที่พบบ่อยที่สุดที่เกี่ยวข้องกับภาวะลองโควิด ได้แก่ ความเหนื่อยล้า หายใจถี่หรือหายใจลำบาก ปัญหา ด้านความจำ สมาธิ หรือการนอนหลับ ไอถาวร อาการเจ็บหน้าอก ปัญหาในการพูด อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ สูญเสียการรับกลิ่นหรือรสชาติ
ภาวะซึมเศร้าหรือความวิตกกังวลและเป็นไข้ ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถของบุคคลในการทำกิจกรรมประจำวันได้ อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปแต่ระยะเวลาในการฟื้นตัวขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนบุคคล จึงทำให้ไม่สามารถระบุระยะเวลาการดำเนินของภาวะดังกล่าวได้อย่างแน่ชัด
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการศึกษาจำนวนมากที่พบว่า การฉีดวัคซีนโควิด 19 ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะลองโควิดได้
ประเด็นการปกปิดข้อมูลและข้อเท็จจริงของผู้ที่ได้รับผล กระทบและเสียชีวิตจากวัคซีนนั้น ไม่เป็นความจริง
ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบจากวัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทย มีการเก็บข้อมูล พิจารณา วินิจฉัย และมีการเผยแพร่อย่างเป็นระบบ โดยกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคตามมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก แนะนำและมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญระดับชาติหลายสาขาที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณาว่า ผลกระทบดังกล่าว เกิดขึ้นจากวัคซีนหรือไม่หรือมีปัจจัยอื่นใดที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าวขึ้นซึ่งต้องใช้ข้อมูลผลตรวจด้านการแพทย์ของผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าวมาพิจารณาร่วมด้วยเพื่อให้สามารถวินิจฉัยได้แน่ชัด
ทั้งนี้ ผลการวินิจฉัยจะมีการเผยแพร่ในเว็บไซต์ของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้มีการปกปิดข้อมูลแต่อย่างใด การเปิดเผยข้อมูลเป็นไปตามกฎหมายอย่างถูกต้องครบถ้วน
นอกจากนี้สถาบันวัคซีนแห่งชาติและหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข ไม่มีอำนาจใดที่สามารถปิดกั้นข้อมูลข่าวสารจากโซเชียลมีเดีย และแอปพลิเคชันต่าง ๆ ได้
ดังเห็นได้จากการระบาดของข้อมูลข่าวปลอมและข่าวบิดเบือน (Infodemic) ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ รวมถึงข้อมูลบิดเบือนด้านวัคซีนจำนวนมาก ที่เผยแพร่อยู่ในสื่อออนไลน์ในปัจจุบัน
ประเด็นอัตราการตายส่วนเกิน (excess deaths) ของประชาชนไทยในช่วงปี 2565-2566 นั้น เป็นข้อมูลการตายจากสาเหตุอื่น ๆ ในภาพรวม เช่น การเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง หรือโรคเรื้อรังต่างๆ ที่ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม
รวมทั้งจากการผ่อนคลายมาตรการป้องกันควบคุมโรค มีการเดินทางเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับการจราจรเพิ่มมากขึ้นในปี 2565-25667 ซึ่งไม่เกี่ยวกับโรคโควิด 19 และการวิเคราะห์ข้อมูลอัตราการตายส่วนเกินไม่มีหลักฐานว่าเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด 19 แต่ประการใดจึงไม่สามารถนำมาใช้อ้างอิงว่า สาเหตุการตายเกิดจากวัคซีน
สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขมีการเก็บข้อมูลอัตราการตายของประชากรไทยอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบโดยในรายละเอียดของอัตราการตายส่วนเกินในช่วงเวลาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขจะมีการแถลงให้ประชาชนทราบข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป
ประเด็นการติดตามผลกระทบเบื้องต้นจากการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในผู้ที่ฉีดวัคซีนในประเทศไทยเกือบ 100 รายในระยะเวลา 1 ปีที่มีการอ้างถึงนั้น
ตามหลักวิชาการพบว่า ยังต้องมีการวางแผนแนวทางการศึกษาให้รัดกุมและต้องมีการกำหนดกลุ่มเปรียบเทียบเพิ่มเติมเพื่อหลีกเลี่ยงอคติ (Bias)
ในการศึกษาซึ่งจะทำให้สามารถเปรียบเทียบข้อมูลผลกระทบระหว่างผู้ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 และกลุ่มผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้อย่างแท้จริง เนื่องจากการทำการศึกษาผลกระทบของสิ่งใดก็ตาม หากไม่มีกลุ่มควบคุมอาจทำให้มีอคติเกิดขึ้นในการศึกษานั้นได้
ประเด็นข้อมูลรายงานในวารสาร Nature Scientific Reports ที่มีการกล่าวอ้างว่า การฉีดวัคซีนหลังเข็มที่ 3 ว่า อาจจะทำให้ภูมิคุ้มกันชนิด T-Cell หมดแรงนั้นเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้มีการประสานไปยังนักวิจัยเจ้าของข้อมูลดังกล่าวซึ่งมีการเผยแพร่รายงานในเรื่อง "Hybrid and herd Immunity 6 months after SARS‑CoV‑2 exposure among individuals from a community treatment program"
ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2566 พบว่า ประเด็นหลักที่นักวิจัยต้องการสื่อสาร คือ การฉีดวัคซีนเข็ม กระตุ้นปริมาณมาก ๆ ในช่วงระยะห่างสั้น ๆ (ฉีดวัคซีนจำนวนมาก และฉีดก่อนครบกำหนด) ไม่ทำให้เกิดการ กระตุ้นภูมิคุ้มกันที่ดี การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นควรมีการวางแผน และกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการ สร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคได้ดีที่สุด
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้มีคำแนะนำให้ประชาชนทั่วไป ผู้สูงอายุ ผู้มีโรค ประจำตัว หรือผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด 19 จำเป็นต้องได้รับวัคซีน 1 โดส และตามด้วยการฉีดวัคซีนเพิ่มเติมหลังจากฉีดเข็มแรกมาแล้ว 6 เดือนถึง 1 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงของการป่วยหนักและเสียชีวิต ซึ่งคำแนะนำสำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทยได้ผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ และเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับองค์การ อนามัยโลกด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ เกี่ยวข้องคณะผู้เชี่ยวชาญทางด้านภูมิคุ้มกันวิทยาของประเทศ รวมทั้งองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย จะทำการรวบรวมข้อมูลทางวิชาการที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อตอบข้อสงสัยประเด็นต่าง ๆ ในรายละเอียด และจะทำการ เผยแพร่ให้ประชาชนได้ทราบทั่วกันอย่างต่อเนื่องต่อไป