10 มกราคม 2567 นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วม
โดยวันนี้ที่ประชุมได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ปี 2567 ซึ่งในช่วงระยะเวลาเร่งด่วนหรือ Quick Win 100 วันที่ผ่านมา ถือว่า ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทั้งประเด็น 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ฉีดวัคซีนป้องกัน HPV ตามนโยบายมะเร็งครบวงจร
การเปิดโรงพยาบาลเขตดอนเมือง และโรงพยาบาลราชวิถีนครพิงค์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของคนในเขตเมือง เป็นต้น
สำหรับการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงสาธารณสุขไตรมาส 2 ช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2567 ได้ขยายเป้าหมาย (Mid-Year Success) การขับเคลื่อนนโยบายทั้ง 13 ประเด็น ดังนี้
1.โครงการพระราชดำริ เฉลิมพระเกียรติ และที่เกี่ยวเนื่องกับพระบรมวงศานุวงศ์ คือ โรงพยาบาลแม่ข่ายปรับปรุงระบบบริการตามมาตรฐานของราชทัณฑ์ปันสุขฯ 80% เพิ่มโรงพยาบาลอัจฉริยะต้นแบบระดับทอง 20 แห่ง พัฒนาชุมชนสุขภาพดี 8 แห่ง ผู้นำศาสนาผ่านหลักสูตรพระคิลานุปัฏฐาก 1,000 รูป/ท่าน
ตรวจสุขภาพพระสงฆ์ สามเณร 72,000 รูป มีอำเภอสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรค 70 อำเภอ โดยจะมีการคิกออฟโครงการเฉลิมพระเกียรติ “พาหมอไปหาประชาชน” 4 ภาค ในเดือนมกราคมนี้
2.รพ.กทม. 50 เขต 50 รพ.และปริมณฑล จะเปิด รพ.นพรัตนราชธานี คุ้มเกล้า เขตมีนบุรี ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2567 และลงนามความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับกองทัพอากาศ ในเดือนมีนาคม
3.สุขภาพจิต/ยาเสพติด ตั้งเป้า 40% ของมินิธัญญารักษ์ มีอัตราครองเตียงอย่างน้อย 30% หอผู้ป่วยจิตเวช/ยาเสพติดในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปคุณภาพ 30% และกลุ่มงานจิตเวช/ยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชน 90%
4.มะเร็งครบวงจร เดินหน้าคัดกรองไวรัสตับอักเสบบี/ซี 2 แสนราย ผู้ที่มีผลผิดปกติเข้าถึงการรักษาทุกราย และคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วย Fit Test 475,000 ราย และส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ 38,000 ราย
5.สร้างขวัญและกำลังใจบุคลากร เร่งรัดตรวจสอบและประเมินผลงานตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษให้ครบเป้าหมาย 10,124 ตำแหน่ง รวมทั้งการใช้ตำแหน่งว่างบรรจุพยาบาลวิชาชีพให้ครบ 3,318 ตำแหน่ง
6.การแพทย์ปฐมภูมิ พัฒนาระบบข้อมูลบริการสุขภาพด้วยเทคโนโลยี เพื่อการบริการอย่างไร้รอยต่อ ส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพตามช่วงวัยแบบบองค์รวม ผ่านกลไกอำเภอสุขภาพดี พร้อมทั้งยกระดับ อสม.ในการจัดบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานด้วยเทคโนโลยี
7.สาธารณสุขชายแดนและพื้นที่เฉพาะ จะเปิดศูนย์การเรียนรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขชายแดน ณ รพ.แม่สอด จ.ตาก จัดทำหลักสูตร EOC Manager หลักเกณฑ์ EOC Assessment Tool และแนวทางรับมือไข้หวัดใหญ่ บุคคลผู้มีปัญหาสถานะได้รับการขึ้นทะเบียนประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น 0.2% และห้องปฏิบัติการได้รับการเสริมความสามารถอย่างน้อย 1 ห้อง
8.สถานชีวาภิบาล ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเขตสุขภาพละ 2 แห่ง โดยจะมีการคิกออฟสถานชีวาภิบาลต้นแบบคำประมง จ.สกลนคร ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และจัดตั้ง Hospital at Home / Home Ward ในแต่ละเขตสุขภาพมากกว่า 75%
9.พัฒนาโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่าย โดยโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่ายระดับ A มีบริการ CT Scan ครบทั้ง 17 แห่ง
10.ดิจิทัลสุขภาพ โรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขใน 8 จังหวัดนำร่อง และ 4 เขตสุขภาพ เชื่อมและส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยอิเล็กทรอนิกส์ได้ 100% และผ่านเกณฑ์โรงพยาบาลอัจฉริยะระดับทองขึ้นไป 10%
11.ส่งเสริมการมีบุตร ผลักดันให้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. เป็นวาระแห่งชาติ โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 75% มีบริการการฉีดเชื้ออสุจิเข้าโพรงมดลูก (IUI) มีผู้ได้รับบริการรักษาภาวะมีบุตรยาก 2,700 คน และทารกได้รับการคัดกรองโรคหายาก 80%
12.เศรษฐกิจสุขภาพ คัดเลือกชุมชนเป้าหมาย Healthy City MODELs จังหวัดละ 1 ชุมชน ให้การรับรอง Wellness Center 300 แห่ง อนุญาตผลิตภัณฑ์ชุมชน 50 รายการ และมี Care Giver 2,500 คน / Care Assistance 500 คน นวดไทย 2,500 คน
13.นักท่องเที่ยวปลอดภัย จะให้อำเภอนำร่อง 30% เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวปลอดพิษสุนัขบ้า มีทีมตระหนักรู้สถานการณ์ (SAT) คุณภาพ และศูนย์บริการชาวต่างชาติในสถานบริการสุขภาพ ใน 31 จังหวัดนำร่อง จัดทำเส้นทางบินสำหรับ Sky Doctor โดยจะเปิดกิจกรรม Safety Phuket Island Sandbox ในเดือนกุมภาพันธ์นี้