นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า นับจากที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายเร่งด่วนแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ปี 2567 และนายกรัฐมนตรี แต่งตั้ง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 ได้มีการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหา
โดย พล ต.อ.พัชรวาทฯ ได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 เพื่อตรวจการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ซึ่งต่อมานายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่อีกครั้งเพื่อมอบนโยบาย เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566
ทั้งนี้ในการขับเคลื่อนมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 คณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน มีการประชุมเร่งรัดให้ดำเนินมาตรการเร่งด่วนใน 11 ประเด็น และได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อประสานงานกับหน่วยงาน ตั้งศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัดในพื้นที่วิกฤต 17 จังหวัดภาคเหนือ และ 5 จังหวัดปริมณฑล เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ สำหรับมาตรการเร่งด่วน 11 ประเด็น ครอบคลุมการจัดการไฟในป่า 11 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวนแห่งชาติ การจัดการไฟในพื้นที่เกษตร (อ้อย ข้าว ข้าวโพด) การควบคุมฝุ่นในเขตเมือง และการจัดการหมอกควันข้ามแดน ซึ่งคณะอนุกรรมการได้มีการประชุมหารือซักซ้อมในประเด็นดังกล่าว
นอกจากนี้ กฎหมาย พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว รวมถึงล่าสุด คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบกับมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566
นายจตุพร กล่าวอีกว่าเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566) ได้มีการประชุมคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน ครั้งที่ 2/2566 คณะกรรมการฯ ได้มาเร่งรัดหน่วยงานดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567 และเนื่องจากช่วงนี้สถานการณ์ฝุ่นได้สูงขึ้นในหลายพื้นที่ จึงได้กำชับให้หน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมการขนส่งทางบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และจังหวัดในภาคเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ต้องควบคุมต้นตอที่ทำให้เกิดฝุ่นอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะต้องควบคุมไม่ให้มีการเผาในช่วง 2-3 เดือนนี้ ให้เคร่งครัดจับปรับรถยนต์ควันดำ
เห็นชอบในหลักการการขอรับการจัดสรรงบกลางในการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง จำนวน 10 โครงการ และการจัดตั้งงบประมาณ “แผนงานยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาฝุ่นละออง PM2.5” ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นเครื่องมือและกลไกในการบูรณาการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะต้องมีเป้าหมายร่วมกัน คือ ค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 ต้องลดลงและจำนวนจุดความร้อนต้องลดลง ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณามอบหมายให้สำนักงบประมาณเพิ่มเติม “แผนงานยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาฝุ่นละออง PM2.5” ต่อไป
“การประชุมครั้งนี้ได้เห็นชอบการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศกรุงเทพมหานคร โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ เพิ่มเติม นอกเหนือจากที่จัดตั้งไว้แล้วใน 17 จังหวัดภาคเหนือ และ 5 จังหวัดในปริมณฑล เพราะพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่สำคัญของประเทศที่ประสบวิกฤตฝุ่น PM2.5 และเปลี่ยนการกำหนดให้ทุกหน่วยรายงานความก้าวหน้ามายังกระทรวงทรัพย์ฯ ทุก 15 วัน เปลี่ยนเป็นทุก 7 วัน เพราะสถานการณ์ฝุ่นเริ่มสูงขึ้น
พร้อมมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเชื่อมโยงศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PHEOC) กับศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศและศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัดฯ เพื่อให้มีการบูรณาการและสื่อสารข้อมูลที่ครอบคลุมในทุกมิติทั้งในการแก้ไขปัญหาฝุ่นและด้านสุขภาพอนามัยของประชาชน นายจตุพร กล่าว