ภารกิจของ กระทรวงสาธารณสุข ภายใต้การนำทัพของ “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หลังประกาศเดินหน้านโยบายเร่งด่วน (Quick Win) ตามแผนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณสุข พ.ศ. 2567 ในระยะสั้นและเร่งด่วน(Quick Win 100 วัน) ที่ต้องตอบโจทย์ประชาชนได้โดยเร็วและเห็นผลโดยมอบหมายให้แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปเร่งรัดและดำเนินการจาก 13 ประเด็นควบรวมให้อยู่ใน 10 ประเด็น ที่จะต้องดำเนินการเพื่อยกระดับบัตร 30 บาทรักษาทุกโรค เป็น “30 บาทรักษาทุกที่” ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทยที่ได้ประกาศเอาไว้
โดยไฮไลท์ที่น่าสนใจ คือ โครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกโรคได้ทุกที่ นับเป็นหนึ่งนโยบาย Quick Win ที่กระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดดำเนินการเพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนทุกคน โดยนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของหน่วยบริการทุกระดับทั้งรัฐและเอกชน
เพื่อให้ได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว ทั้งยังเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับบุคลากรการแพทย์ในการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของประชาชน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของหน่วยบริการให้เป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) โดยนำร่องระยะต้น 4 เขตสุขภาพ 27 จังหวัด ซึ่งเป็นเขตสุขภาพที่มีการเสนอความพร้อมว่าสามารถดำเนินการได้ ได้แก่
เขตสุขภาพที่ 1 ครอบคลุม 8 จังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน
เขตสุขภาพที่ 4 ครอบคลุม 8 จังหวัด สระบุรี นนทบุรี ลพบุรี อ่างทอง นครนายก สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี
เขตสุขภาพที่ 9 ครอบคลุม 4 จังหวัด นครราชสีมา ชุยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์
เขตสุขภาพที่ 12 ครอบคลุม 7 จังหวัด พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
"ภายใต้นโยบายนี้ประชาชนในสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค จะสามารถไปรับบริการในสถานพยาบาลได้ทุกที่ในทุกโรค ไม่เฉพาะรพ.ตามสิทธิเท่านั้น เบื้องต้นจะครอบคลุมเฉพาะโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขก่อน เนื่องจากโรงพยาบาลใน 4 เขตสุขภาพดังกล่าวมีการทำฐานข้อมูลผู้ป่วยในระบบดิจิทัลอยู่แล้ว
เหลือเพียงการนำของแต่ละโรงพยาบาลในเขตนำข้อมูลขึ้นสู่คลาวด์ จากนั้นเมื่อผู้ป่วยไปรับบริการที่ รพ.สังกัด สธ.ในเขตเดียวกัน แพทย์ที่ได้รับอนุญาตก็จะสามารถดูข้อมูลคนไข้ได้ คาดว่า จะเริ่มให้บริการรูปแบบนี้ได้ภายใน 100 วัน ตั้งใจให้เป็นของขวัญปีใหม่ประชาชน" นพ.ชลน่าน ยังย้ำให้เห็นว่า
ยังมีนโยบาย "มะเร็งครบวงจร" ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านการส่งเสริม ป้องกัน คัดกรอง วินิจฉัย รักษา และดูแลฟื้นฟูกายใจ โดยเฉพาะมะเร็งที่เป็นปัญหาสำคัญ 5 ชนิด คือ มะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นมะเร็งที่สามารถป้องกันและตรวจคัดกรองความเสี่ยงได้ เช่น สนับสนุนให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเอง
อีกนโยบายที่ต้องจับตามองคือ จัดตั้งโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ 50 เขต 50 โรงพยาบาล และปริมณฑล เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชนซึ่งจะนำร่องที่เขตดอนเมือง โดยยกระดับหน่วยบริการปฐมภูมิให้เป็นโรงพยาบาลผู้ป่วยนอกเฉพาะทางซึ่งได้ร่วมขับเคลื่อนโรงพยาบาลทหารอากาศ (สีกัน) ให้เป็นโรงพยาบาลทุติยภูมิ ขนาด 120 เตียงขึ้นไป ประจำเขตดอนเมือง และพัฒนาระบบส่งต่อรักษาโดยมีโรงพยาบาลราชวิถี 2 เป็นหน่วยรับส่งต่อผู้ป่วยเพิ่มเติม จากเดิมมีโรงพยาบาลภูมิพล และโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ รองรับ
ขณะที่นโยบายที่มุ่งสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการภายใต้นโยบาย นักท่องเที่ยวปลอดภัย คือ One Region One Sky Doctor หรือ 1 เขตสุขภาพ 1 ทีมแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศ ที่พัฒนาและต่อยอดเพิ่มประสิทธิภาพจากความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ โดยคาดว่า จะเสร็จสิ้นได้ภายในเดือนธันวาคม 2566 นี้
ทั้งยังมีเรื่องของ เศรษฐกิจสุขภาพ ที่ประกาศให้มี Wellness Community เขตสุขภาพละ 1 แห่งและอาจจะมีเพิ่มเติมเป็นรายจังหวัดที่มีความพร้อม คือ เชียงใหม่และน่าน, ขึ้นทะเบียน Wellness center 500 แห่ง, ออกใบอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน 100 รายการ และสร้างงานสร้างอาชีพ 500 คน เช่น นวด เป็นต้น
วันนี้ นโยบาย Quick Win 100 วัน ของกระทรวงสาธารณสุขเริ่มสตาร์ทแล้ว ด้วยเข็มมุ่งที่จะเป็นของขวัญปีใหม่ เพื่อให้คนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า