จับตา โควิดกลายพันธุ์คู่-พลิกขั้ว พบในไทยแล้ว 42 ราย 

13 พ.ย. 2566 | 12:25 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ย. 2566 | 12:25 น.

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ เผย องค์การอนามัยโลก กำลังติดตามสถานการณ์ BA.2. 86 สายพันธุ์ลูกผสมของโอมิครอนอย่างใกล้ชิด ระบุพบโควิดกลายพันธุ์คู่-พลิกขั้วแล้วทั่วโลก 34,301 ราย ในประเทศไทย 42 ราย 

ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลกยังพบยอดผู้ป่วยติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะไม่มีอาการรุนแรงเหมือนช่วงแรกก็ตามแต่นักวิชาการต่างเฝ้าระวังและเกาะติดสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics เปิดเผยความคืบหน้าว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) กำลังเฝ้าติดตาม BA.2.86 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ลูกผสมของโอมิครอนระหว่าง "BA.2" และ "XBB"

สายพันธุ์ย่อยนี้ได้รับความสนใจเนื่องจากมีการกลายพันธุ์จำนวนมากซึ่งเกินกว่า 30 ตำแหน่งบนโปรตีนหนาม จำนวนการกลายพันธุ์ที่มากมายบนโปรตีนหนามนี้คล้ายคลึงกับการก้าวกระโดดที่พบในสายพันธุ์โอมิครอนที่ปรากฏขึ้นครั้งแรกในอดีต

ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับศักยภาพในการแพร่เชื้อ การดื้อต่อวัคซีน ยาและแอนติบอดีสำเร็จรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกหลานของ BA.2.86 ซึ่งยังมีการกลายพันธุ์ไปอย่างต่อเนื่อง เช่น โอมิครอน JN.1, JN.2, JN.3 ฯลฯ

แม้ว่า WHO ยังมิได้จัดให้โอมิครอน BA.2.86 เป็น Variant of Concern (VOC) แต่โปรไฟล์ทางพันธุกรรมที่ไม่เหมือนโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมทำให้ผู้เชี่ยวชาญตั้งชื่อ BA.2.86 อย่างไม่เป็นทางการว่า "Pirola" ซึ่งมาจากอักษรกรีก "Pi" รวมกับ "Rho" ที่เป็นสองอักษรกรีกที่ถัดจาก "โอมิครอน" 

หลายฝ่ายเริ่มคลายกังวล เมื่อไม่พบข้อมูลทางคลินิกที่บ่งชี้ว่า การติดเชื้อโอมิครอน BA.2.86 และ EG.5.1 จะทำให้เกิดการเจ็บป่วยที่รุนแรงและดูเหมือนว่า ทั้งสองสายพันธุ์ย่อยจะยังไม่สามารถแข่งขันกับโอมิครอนกลุ่มย่อย XBB* ที่เป็นสายพันธุ์หลักอยู่ในปัจจุบันได้ โดยเฉพาะกับกลุ่มของ "FLip" ที่มีการกลายพันธุ์คู่-พลิกขั้ว "L455F + F456L" เช่น โอมิครอน HK.3

กลุ่มโอมิครอนกลายพันธุ์คู่-พลิกขั้ว "L455F + F456L" พบแล้วทั่วโลก (จากฐานข้อมูลโควิดโลก "GISAID" ณ เดือนพฤศจิกายน 2566) จำนวน 34,301 ราย และพบในประเทศไทย 42 ราย ที่น่าสังเกต คือ โอมิครอนสายพันธุ์ล่าสุด ไม่ว่าจะเป็น XBB->EG.5.1->HV.1 หรือ BA.2->BA.2.86->JN.1, JN.2, JN.3 ล้วนมีแนวโน้มที่จะกลายพันธุ์ในลักษณะของกลายพันธุ์คู่-พลิกขั้ว (L455F + F456L) ด้วยกันทั้งสิ้น

การกลายพันธุ์คู่-พลิกขั้ว เป็นการวิวัฒนาการ "แบบเบนเข้า" หรือ "วิวัฒนาการเชิงบรรจบ (convergent evolution)" ที่ธรรมชาติกำหนดให้กับสิ่งมีชีวิต รวมถึงไวรัสที่แม้ไวรัสจากต่างสายพันธุ์ เช่น EG.5.1 และ BA.2.86 กลับมีวิวัฒนาการในลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ พยายามมีการกลายพันธุ์บนส่วนหนามสองตำแหน่งติดกัน (double mutation) คือ L455F และ F456L เหมือนกัน เนื่องจากไวรัสทั้งสองอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ถูกกดดันด้วยภูมิคุ้มกันจากวัคซีนและการติดเชื้อตามธรรมชาติในลักษณะเดียวกัน

โอมิครอน "HV.1 (XBB.1.9.2.5.1.6.1)" สืบเชื้อสายมาจากโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย XBB.1.9.2 โดยเป็นทายาทรุ่นลูกของโอมิครอน EG.5 พบการกลายพันธุ์ที่ส่วนหนามบริเวณ "F456L" ก่อให้เกิดการระบาดเป็นสายพันธุ์หลักในสหรัฐอเมริกาขณะนี้โดยคิดเป็นร้อยละ 25.2  ของสายพันธุ์ที่ระบาดหมุนเวียนในสหรัฐอเมริกา (พฤศจิกายน 2566)

ช่วงเวลาใกล้เคียงกันในเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา นักวิจัยได้ตรวจพบรุ่นลูกของโอมิครอน BA.2.86 ในยุโรปที่มีการกลายพันธุ์สะสมเพื่อหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้มากขึ้นพร้อมไปกับการจับกับผิวเซลล์ได้อย่างมั่นคงขึ้น โดยมีตำแหน่งการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง "L455S" เกิดเป็นสายพันธุ์ย่อยที่ถูกตั้งชื่อว่า "JN.1"  พบระบาดมากในประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส  ยังไม่พบในประเทศไทย

ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า รุ่นลูกของโอมิครอน JN.1 "อาจเกิดการแพร่ระบาดกลายเป็นสายพันธุ์หลักทั่วโลกได้ในอนาคต "หากมีการกลายพันธุ์ ณ ตำแหน่ง "F456L" เพิ่มเติมอีกเพียงหนึ่งตำแหน่ง 

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี กำลังติดตามโอมิครอน "JN.1" และลูกหลานอย่างใกล้ชิด ขณะนี้พบโอมิครอน BA.2.86 และลูกหลาน (ในฐานข้อมูลโควิดโลกจีเสส) ระบาดทั่วโลกไปแล้วจำนวนกว่า 2,309 ตัวอย่างจาก 39 ประเทศ กล่าวคือ ประเทศไทย จำนวน 2 ราย คิดเป็น 0.094% ของสายพันธุ์ที่ระบาดในไทย