ตามนโยบายมะเร็งครบวงจรของกระทรวงสาธารณสุข นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการเดินหน้าตามนโยบายดังกล่าวซึ่งมีแผน Quick win 100 วัน ฉีดวัคซีนเอชพีวีป้องกันมะเร็งปากมดลูก จำนวน 1 ล้านโดสสำหรับผู้หญิงอายุ 11-20 ปี
โดย สปสช.จะเร่งสนับสนุนการจัดบริการมะเร็งปากมดลูก ภายใต้สิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ประกอบด้วย บริการวัคซีนเอชพีวี ซึ่งการฉีดวัคซีนตั้งแต่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์ หรือในผู้หญิงอายุ 9-26 ปี จะป้องกันการติดเชื้อได้มากถึงร้อยละ 90 ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปากมดลูกใน 10-20 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ สปสช. ได้กำหนดเป้าหมาย Quick win สนับสนุนการฉีดวัคซีนเอชพีวี 1 ล้านโดส ใน 100 วันแรก ให้กับกลุ่มเป้าหมายนักเรียนหญิงชั้น ป.5 ถึงระดับอุดมศึกษาปีที่ 2 หรืออายุ 11-20 ปี ทุกสิทธิการรักษาพยาบาลโดยจะเน้นฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้งหมดก่อน
ส่วนกรณีกลุ่มอายุ 15 –20 ปี จะเป็นการฉีดเข็มที่ 2 ซึ่งต้องเป็นผู้ที่ได้รับเข็ม 1 แล้วเกิน 6 เดือน สปสช.จะจัดหาวัคซีนให้เพียงพอกับกลุ่มเป้าหมาย และพิจารณาจัดหาวัคซีนเอชพีวีเข็มที่ 2 เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันอย่างถูกต้องตามคำแนะนำทางวิชาการและสิทธิประโยชน์ของประชาชน โดย สปสช. ได้เพิ่มเติมงบประมาณปี 2567 อีกจำนวน 717.63 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนวัคซีนเอชพีวีเพิ่มรวมเป็น 1,747,000 ล้านบาท
จากเดิมที่กำหนดจัดซื้อเพียง 703,700 โดส และเมื่อรวมกับวัคซีนเอชพีวีกับส่วนอื่นๆ ทำให้มีวัคซีนเอชพีวีในระบบราว 1,900,000 โดส ในการเดินหน้านโยบายนี้ นอกจากนี้ สปสช. ได้เร่งสนับสนุนการบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
รวมถึงค้นหาผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาในระยะเริ่มแรก กลุ่มเป้าหมาย คือหญิงไทย อายุ 30 –59 ปี ทุกสิทธิการรักษาพยาบาล และหญิงไทย อายุ 15 –29 ปี กรณีมีความเสี่ยงสูง ให้บริการตรวจคัดกรองด้วยวิธี HPV DNA Test 1 ครั้ง ทุกๆ 5 ปี โดยเข้ารับบริการได้ที่หน่วยบริการในระบบบัตรทองที่สามารถให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้
สปสช. ยังได้เพิ่มบริการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเชิงรุกด้วย HPV Self Sampling ที่เป็นชุดเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตนเอง เพื่อนำส่งตรวจที่หน่วยบริการ เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับหญิงไทยที่มีความรู้สึกอายที่จะรับบริการที่หน่วยบริการ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกให้บรรลุผลตาม Quick win 100 วันโดยเร็ว
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา สปสช. ได้ร่วมกับหน่วยบริการภาครัฐและเอกชนออกหน่วยให้บริการเชิงรุกในสถานประกอบการแล้ว และสนับสนุนหน่วยบริการให้บริการตรวจคัดกรอง ประสานส่งต่อได้อย่างครบถ้วน ที่ผ่านมาได้มีหลายพื้นที่ดำเนินการแล้ว เช่นที่เขต 7 ร้อยเอ็ด รพ.พนมไพรเป็นแม่ข่ายบริการห้องปฏิบัติการตรวจ และที่เขต 9 นครราชสีมา โดย รพ.กรุงเทพราชสีมา นพ.จเด็จ กล่าวและว่า
ภายหลังการตรวจคัดกรองมะเร็งปาดมดลูก ในกรณีผลการตรวจพบว่าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงหรือเป็นมะเร็งปากมดลูกในระยะแรกก็สามารถเข้าสู่การรักษาพยาบาลตามสิทธิได้ โดยในส่วนของผู้มีสิทธิบัตรทองสามารถเข้ารับบริการได้ที่หน่วยบริการในระบบได้ เบื้องต้นอาจเริ่มเข้ารับบริการที่หน่วยบริการประจำก่อน
หากเกินศักยภาพของหน่วยบริการที่จะดูแล หรือมีคิวผู้ป่วยที่รอบริการจำนวนมาก ก็สามารถเข้ารับบริการยังหน่วยบริการเฉพาะด้านโรคมะเร็ง หรือหน่วยบริการที่มีศักยภาพด้านการรักษามะเร็งทั่วประเทศในระบบบัตรทองได้ ตามนโยบายโรคมะเร็งไปที่ไหนก็ได้ (Cancer Anywhere) ที่ได้ร่วมกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยครอบคลุมทั้งหน่วยบริการเคมีบำบัด หน่วยบริการรังสีรักษา และหน่วยบริการผ่าตัดรักษา เป็นต้น