เปิดบ้าน OPPY คลับของผู้สูงวัย ต้นแบบ “สังคมอายุยืน”

29 ต.ค. 2566 | 14:15 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ต.ค. 2566 | 14:18 น.

เปิดบ้าน “OPPY” คลับของผู้สูงวัย จากจุดเริ่มต้นการเรียนรู้ “อินเตอร์เน็ต” สู่กิจกรรมเสริมทักษะ ความคิดสร้างสรรค์ ต่อยอดสร้างรายได้วัยเกษียณ

ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) โดยมีสัดส่วนผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 20% ของจำนวนประชากรไทย (ปี 2565) อ้างอิงข้อมูลจากกรมกิจการผู้สูงอายุ (DOP) คาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-Aged Society) ซึ่งหมายถึงไทยจะเข้าสู่สังคมที่มีจำนวนประชากรอายุมากกว่า 65 ปี ไม่น้อยไปกว่า 20% เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า ประเทศไทยควรเริ่มเตรียมแผนเพื่อรองรับอัตราการเพิ่มขึ้นของกลุ่มผู้สูงอายุวัยเกษียณ

แต่หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 23 ปีก่อน กลับมีผู้คิดริเริ่มก่อตั้งชมรมผู้สูงวัยขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับผู้สูงวัย ได้เข้าถึงและใช้ชีวิตให้เท่าทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในเรื่องของเทคโนโลยี ซึ่ง “OPPY CLUB” กลายเป็นชมรมของผู้สูงวัย ที่ก่อตั้งในปี 2543 โดย คุณหญิงชัชนี จาติกวณิช ประธานกิตติมศักดิ์ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) บริษัทธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ มีความสนใจในโลกอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี จึงชวนเพื่อนๆ มาเข้าชั้นเรียนรู้การใช้อินเทอร์เน็ตเบื้องต้นกับบริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในยุคแรก

เปิดบ้าน OPPY คลับของผู้สูงวัย ต้นแบบ “สังคมอายุยืน”

แต่เมื่อทดลองเรียนรู้ผ่านรูปแบบการเรียนการสอนที่จัดหลักสูตรให้ลูกค้าสมาชิกในขณะนั้น พบว่ายังไม่เกิดความเข้าใจและตอบโจทย์ เนื่องจากมองว่า การเรียนรวมกับกลุ่มวัยเรียน วัยทำงาน หรือกลุ่มผู้เรียนที่ไม่ได้อยู่ในวัยเดียวกัน มีรูปแบบหลักสูตรที่เข้าใจยากสำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐาน ทำให้เรียนในเรื่องของเทคโนโลยีไม่ทันกลุ่มอื่นๆ เนื่องจากเรื่องของอินเทอร์เน็ตในยุคสมัยนั้นยังถือว่าใหม่มากๆ ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้สูงอายุ

OPPY บ้านอีกหลังสำหรับผู้สูงอายุ

คุณหญิงชัชนีจึงขอให้มีการออกแบบหลักสูตรสำหรับผู้สูงวัยโดยเฉพาะ จึงเกิดเป็น OPPY CLUB ที่ย่อมาจาก Old People Playing Young ภายใต้การสนับสนุนของล็อกซเล่ย์ โดยมี “ครูเจี๊ยบ สุธีรา จำลองศุภลักษณ์” ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งครูใหญ่แห่งชมรมโอพีพีวาย ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบบทเรียน (Instructional Design Specialist) เป็นผู้ออกแบบหลักสูตร ซึ่งได้มีการทดลองสอนตามหลักสูตรครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2542 และได้เปิดตัวชมรม OPPY อย่างเป็นทางการในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2543

ครูเจี๊ยบ เล่าว่า ที่นี่ไม่ใช่เพียงแค่ชมรมที่สอนเทคโนโลยี แต่เปรียบเสมือนบ้านอีกหลังของผู้สูงอายุ ที่ทำให้เขาอยากเข้ามาเรียนรู้ในทุกๆ วัน เพราะหลักสูตรหรือการเรียนการสอนที่พัฒนาอยู่ตลอดนั้น มาจากความต้องการของสมาชิกในชมรมเองส่วนหนึ่ง ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมและเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่งตามยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่าน

เปิดบ้าน OPPY คลับของผู้สูงวัย ต้นแบบ “สังคมอายุยืน”

วันนี้ชมรม OPPY มีผู้สูงวัยหมุนเวียนเข้ามาร่วมกิจกรรมแล้วกว่า 5,000 คน โดยแบ่งกลุ่มผู้สูงอายุเป็น 4 สี ได้แก่ สีเขียว สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่ยังมีการแอคทีฟ สามารถทำกิจกรรมและใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเองตามปกติ รองลงมาคือ สีเหลือง เป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางทางร่างกายบางส่วน เช่น หูไม่ค่อยได้ยิน ตาพร่ามัว และผู้ที่ต้องมีการใช้ไม้เท้าช่วยเดิน, กลุ่มสีส้ม กลุ่มนี้จะเป็นผู้สูงอายุที่ต้องได้รับการดูแล อาทิ ช่วยประคองในการเดินเหิน และให้การช่วยเหลือขณะทำกิจกรรม กลุ่มสุดท้ายจะเป็นสีแดง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง

กลุ่มสมาชิกผู้สูงอายุในชมรม OPPY ส่วนใหญ่ มีอายุไม่น้อยไปกว่า 45 ปี และมากสุดอายุ 95 ปี ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มสีเขียว กลุ่มผู้สูงอายุที่ยังสามารถเข้าร่วมกิจกรรม เรียนรู้สิ่งต่างๆ และใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่จะมีกลุ่มผู้สูงอายุในกลุ่มสีอื่นด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ชมรม OPPY จะใช้หลักสูตรการเรียนรู้ด้านไอทีและการทำกิจกรรมนันทนาการต่างๆ ที่ตอบโจทย์และเข้าถึงผู้สูงวัยทุกกลุ่ม

โดยหลักสูตรด้านไอทีประกอบไปด้วย คอร์สสอนคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และการใช้แอปพลิเคชันต่างๆ สอนถ่ายภาพ แต่งภาพและตัดต่อวิดีโอ สอนวาดภาพดิจิทัล และกิจกรรมนันทนาการที่ประกอบไปด้วย การเรียนเต้น ร้องเพลง วาดภาพสีน้ำ การออกทริปท่องเที่ยว และกิจกรรมอื่นๆ เพื่อจุดประสงค์สำคัญในการให้ผู้สูงอายุได้บริหารสมองและใช้ความคิดในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง

เสริมทักษะสร้างสังคมอายุยืน

“ชมรมได้เล็งเห็นถึงความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ของสมาชิกชมรมหลังผ่านการทำซ้ำประมาณ 5 ครั้งนั้น ก่อให้เกิดทักษะและความคุ้นชิน จนสมาชิกสามารถนำไปต่อยอดได้ด้วยตอนเอง นอกจากนี้ OPPY ยังร่วมกับกรมกิจการผู้สูงอายุ ในการให้ความรู้แก่ผู้สูงอายุระดับชุมชน สร้างหลักสูตรเตรียมความพร้อมผู้สูงวัยในการวิเคราะห์ต้นทุนทางปัญญาของแต่ละพื้นที่ เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ และสามารถต่อยอดเป็นอาชีพเพื่อสร้างรายได้ในวัยหลังเกษียณได้ในที่สุด

เปิดบ้าน OPPY คลับของผู้สูงวัย ต้นแบบ “สังคมอายุยืน”

นอกเหนือจากการเปิดคอร์สการเรียนการสอนให้กับสมาชิกแล้ว ทางชมรมยังมีการเปิดอบรมเสริมสร้างทักษะต่างๆ ภายใต้การสนับสนุนของล็อกซเล่ย์และหน่วยงานราชการ เพื่อให้ผู้สูงวัยที่ไม่ใช่สมาชิกได้มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นในการใช้ชีวิต และมี “สังคมอายุยืน” ไปพร้อมๆ กัน ทั้งนี้ หากทางหน่วยงานหรือบริษัทใดมีความประสงค์จะทำโครงการเพื่อผู้สูงอายุในสังคม สามารถสมทบทุนหรือร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ โดยทางชมรมยินดีที่จะสนับสนุนและพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน”

จ่อปัดฝุ่น “วัยละมุน”

ในส่วนของศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ “วัยละมุน” ที่มีแผนจะดำเนินงานตั้งแต่ก่อนช่วงการระบาดของโควิด-19 และกำลังจะเปิดตัวนั้นเป็นอันต้องยกเลิก เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย ทำให้ศูนย์เปิดไม่ได้ เพราะต้องปฏิบัติตามมาตรการของรัฐ รวมถึงลูกหลานไม่กล้าพาพ่อแม่ออกจากบ้าน จึงได้มีการพับโครงการไป

เนื่องจากวัยละมุนเป็นศูนย์ที่จัดทำขึ้นเพื่อเน้นดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในกลุ่มสีเหลืองและสีส้มเป็นหลัก แม้ไม่สามารถทำให้พวกเขากลับมาอยู่ในกลุ่มสีเขียวได้ แต่อาจทำให้พวกเขาได้กลับมามีสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ทางชมรมคาดว่าอาจมีการกลับมาทำโครงการวัยละมุนอีกครั้ง หากมีพาร์ทเนอร์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เข้ามาร่วมพัฒนาและเป็นจุดเชื่อมระหว่างผู้สูงวัยทุกระดับ รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมที่ถูกต้องสำหรับผู้สูงอายุไปด้วยกัน

เปิดบ้าน OPPY คลับของผู้สูงวัย ต้นแบบ “สังคมอายุยืน”

“สังคม” ต้องอยู่คู่กับคนสูงวัย ขาดไม่ได้

ครูเจี๊ยบกล่าวทิ้งท้ายว่า การออกมามีสังคมพิสูจน์ได้ว่า ทำให้ผู้สูงวัยกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติได้อีกครั้ง เนื่องจากการได้เจอเพื่อนที่พูดภาษาเดียวกัน ได้ใช้เวลาทำกิจกรรมด้วยกัน นับเป็นการบำบัดสุขภาพจิต ซึ่งส่งผลดีต่อการฟื้นฟูสภาพร่างกาย ดังนั้นหน้าที่ของชมรม OPPY คือการทำให้สังคมนี้เป็นสังคมที่ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ดีให้ได้นานที่สุด และสร้างเครือข่ายที่ดีให้ผู้สูงวัยได้อยู่ในแวดล้อมสังคมที่ถูกต้อง

พร้อมฝากถึงคนรุ่นลูกรุ่นหลานว่าอย่าหยุดสร้างสังคมให้พ่อแม่ และหันมาร่วมกันทำให้ผู้สูงอายุเป็นดั่งต้นไม้ยืนต้น (Longevity) ที่สามารถพึ่งพาและทำสิ่งต่างๆได้ด้วยตนเอง ซึ่งอนาคตครูเจี๊ยบเองก็คาดหวังจะได้เห็นผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมยุคปัจจุบันได้ด้วยตนเอง และมีพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ทำสิ่งต่างๆ ต่อไป เพื่อให้พวกเขามองเห็นคุณค่าในตัวเอง สามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,935 วันที่ 29 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566