"อีสุกอีใส" อีกหนึ่งโรคที่ต้องให้ความใส่ใจ และระมัดระวัง โดยมักจะระบาดช่วงปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" จะพาไปทำความรู้จักกับโรคอีสุกอีใสให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันตนเอง
นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า โรคอีสุกอีใสเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่าย โดยติดต่อได้ด้วยการไอ จามหรือหายใจรดกัน หรือโดยการสัมผัส ตลอดจนการใช้ของร่วมกับผู้ที่เป็นโรคอีสุกอีใส หรืองูสวัด ซึ่งปกติเชื้อจะมีระยะฟักตัวประมาณ 2-3 สัปดาห์ โรคอีสุกอีใสจะระบาดในช่วงปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน (มกราคมถึงเมษายน)
อาการของโรคอีสุกอีใส
- ระยะแรกขึ้นเป็นผื่นแดงราบ ต่อมาจะขึ้นเป็นตุ่มใส ตุ่มจะค่อยๆ อุ่นขึ้นคล้ายหนอง แล้วกระจายไปตามใบหน้า ลำตัว แผ่นหลังและช่องปาก
- อีก 2-3 วันต่อมาจะตกสะเก็ด อาจมีอาการเจ็บคอ
- ในเด็กเล็กจะมีไข้ต่ำ อ่อนเพลียและเบื่ออาหารเล็กน้อย
- ในผู้ใหญ่จะมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามลำตัวคล้ายหวัด
- ผื่นขึ้นพร้อมๆ กับวันที่เริ่มมีไข้ หรือหนึ่งวันหลังจากมีไข้
- บางรายมีตุ่มขึ้นในช่องปาก ทำให้ปากและลิ้นเปื่อย
อาการแทรกซ้อน
- การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนที่ผิวหนัง ทําให้กลายเป็นหนองและมีแผลเป็น
- ในรายที่มีภูมิต้านทานต่ำ เชื้อไวรัสอีสุกอีใส อาจกระจายไปยังอวัยวะภายใน เช่น ปอด สมอง ตับ
- หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้ออีสุกอีใส ในช่วง 3-4 เดือนแรกของการตั้งครรภ์อาจทําให้ทารกในครรภ์พิการได้
นายแพทย์สุตศรัญย์ พรึงลำภู แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า การรักษาโรคอีสุกอีใส สามารถรักษาได้ ดังนี้
- ในรายที่เป็นไม่มาก อาจดูแลตนเองที่บ้านได้ หากมีไข้ให้รับประทานยาพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาแอสไพริน เพราะจะทำให้เกิดอาการทางสมองและตับ ใช้ยาลดอาการคัน พักผ่อนและดื่มนํ้ามากๆ
- กรณีที่มีไข้สูง มีผื่นขึ้นตามตัวมาก มีการติดเชื้อแทรกซ้อน มีอาการหอบ ชัก ซึม ต้องพบแพทย์
- ในรายที่เป็นรุนแรง หรือผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ที่เป็นโรคเอดส์ มะเร็งหรือมีโรคประจำตัว จะทำให้โรคอีสุกอีใสมีอาการรุนแรงได้มาก และเกิดการแพร่กระจายไปตามอวัยวะต่างๆ ต้องปรีกษาแพทย์เพื่อลดอาการรุนแรงของโรค
ข้อควรรู้เกี่ยวกับโรคอีสุกอีใส
- โรคนี้เมื่อเป็นแล้วหากร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำและเกิดการกระตุ้นขึ้น มีโอกาสเป็นโรคงูสวัดได้ภายหลัง
- ระยะแพร่เชื้อจะเริ่มตั้งแต่ 24 ชั่วโมงก่อนที่ผื่นหรือตุ่มขึ้น จนตุ่มแห้งหมด ซึ่งใช้เวลาประมาณ 6-7 วัน ควรหยุดงานหรือหยุดเรียนเพื่อป้องกันการติดต่อ
- โรคนี้ไม่มีของแสลง
- ปัจจุบันโรคอีสุกอีใ
- การเกาหรือแกะตุ่มพุพองของโรคอีสุกอีใส อาจจะทำให้เกิดรอยแผลเป็นอย่างถาวร