เป็นที่ทราบกันดีว่า "เครื่องดื่มแอลกอฮอล์" ถือเป็นสินค้าที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท ซ้ำยังส่งผลต่อความเสี่ยงที่จะก่อโรคและความเจ็บป่วยถึง 230 โรค รวมทั้งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลกกว่า 3.3 ล้านคนต่อปี
โดยเฉพาะคนไทยพบว่ามีผู้เสียชีวิตถึงปีละเกือบ 43,000 คน ทั้งยังเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว 24.7% อีกทั้งยังเป็นปัจจัยร่วมสำคัญในการเกิดอุบัติเหตุทางถนนถึง 25-30%
รศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ระบุว่า ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยจำนวนมากทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ พบว่า การได้รับสื่อโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งรูปแบบดั้งเดิม และออนไลน์ส่งผลให้มีการดื่ม และการดื่มหนักมากขึ้น
นอกจากนี้ยังพบว่าการได้รับสื่อโฆษณา ยังเพิ่มโอกาสในการดื่มแอลกอฮอล์ขึ้น 16% และการดื่มหนักขึ้น 35-51% จากข้อสรุปในการทบทวนการศึกษารวมกว่า 25 เรื่อง การมีส่วนร่วมกับสื่อแอลกอฮอล์ออนไลน์ เช่น การคลิก การกดไลค์การแชร์เนื้อหา มีความสัมพันธ์กับการบริโภค เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เพิ่มขึ้น
ดังนั้นการจำกัดการเข้าถึง สื่อโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางออนไลน์ จึงเป็นมาตรการที่สามารถช่วยลดการดื่มและการดื่มแบบความเสี่ยงสูง
ถือได้ว่าการ "ควบคุมการโฆษณา" จึงเป็นมาตรการสำคัญที่มาถูกทาง ส่วนกรณีหากจะมีการแก้ไขกฎหมาย ก็ต้องไม่ทำให้อ่อนแอลง หรือเป็นการเลือกปฏิบัติ
ขณะที่ด้านนายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน ภาคีเครือข่ายป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือ (ภปค.) กล่าวว่า มุมของคนรุ่นใหม่ที่ทำงานด้านสังคม โดยเฉพาะเรื่องการลดผลกระทบที่เกิดจาก "เครื่องดื่มแอลกอฮอล์" เห็นว่าจำเป็นต้องมีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เพราะเป็นสินค้าที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบสูงสุดเมื่อเทียบกับสารเสพติดอื่น และส่งผลกระทบต่อผู้อื่นมากกว่าผู้ดื่ม ซึ่งการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงเป็นการจำกัดสิทธิบางประการของผู้ขาย และผู้ดื่ม เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของสังคมโดยรวม
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) และนักวิชาการทั่วโลก ต่างยืนยันว่า การควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการลดผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ดังนั้นในส่วนของประเทศไทย จึงมีการกำหนดเอาไว้ในมาตรา 32 "พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551" ซึ่งห้ามมิให้บุคคลใด โดยเฉพาะบุคคลสาธารณะโฆษณา เพื่อจูงใจให้ผู้อื่นดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะการโฆษณาเชิญชวน
อย่างไรก็ตามนโยบายที่เกี่ยวกับการควบคุมอาจกระทบสิทธิส่วนบุคคลบางประการของผู้ขาย และผู้ดื่ม แต่นั่นก็เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของทุกคนในสังคมซึ่งเป็นหลักการสากล
ซึ่งการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ.2551 เพื่อยกเลิกมาตรการควบคุมการโฆษณานั้น สิง่ที่สำคัญคือการทำให้รายเล็กโฆษณาได้ แต่รายใหญ่ที่มีสัดส่วนครองตลาดกว่าถึง 95% ทุนใหญ่กว่า ก็ย่อมทำการโฆษณา ทำตลาดได้มากกว่าเป็นธรรมดา
ทำให้ปลายทางสุดท้ายก็เข้าทางทุนใหญ่และนโยบายให้ขายได้ 24 ชั่วโมงก็เช่นเดียวกัน สุดท้ายทุนใหญ่ก็ได้ประโยชน์ไปด้วยอยู่ดี แต่เรื่องที่ควรทำมีอยู่อีกมากมายที่จะจัดการกับทุนเหล้า คือ การห้ามใช้ตราเสมือนมาโฆษณา ที่ควรดำเนินการมากกว่า