ระวัง "ตะเกียบคีบหมูกระทะ" ติดหมูดิบ เสี่ยงเป็นโรคไข้หูดับได้

24 ม.ค. 2567 | 17:03 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ม.ค. 2567 | 17:03 น.
1.4 k

อันตรายจากการกินหมูดิบ หรือหมูที่ยังกึ่งสุกกึ่งดิบ แม้เป็นเพียงเศษหมูดิบที่ติดอยู่กับตะเกียบ หากกินเข้าไปอาจทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียในสมอง และก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพรุนแรงตามมา

หมูกระทะ เรียกได้ว่าเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และยังคงเป็นเมนูโปรดของคนทุกเพศทุกวัยอีกด้วย ความนิยมที่มีต่อเมนูนี้สามารถดูได้จากปริมาณของผู้ประกอบการที่หันมาเปิดกิจการร้านหมูกระทะ ปิ้งย่าง หรือหม้อไฟกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหน เป็นต้องเห็นร้านเหล่านี้เปิดให้บริการอยู่มากมาย ซึ่งไม่ได้เป็นที่นิยมเฉพาะคนไทยเท่านั้น แต่นักท่องเที่ยวต่างประเทศเองก็ให้ความสนใจ และอยากลิ้มลองรสชาติ พร้อมกับเปิดประสบการณ์การกินที่แปลกใหม่เช่นเดียวกัน 

แจ็คสัน หวัง ศิลปินระดับโลก หรือที่แฟนๆ เรียกว่า "พี่แจ็ค" นอกจากจะมีงานที่ประเทศไทยให้แฟนคลับได้ติดตามกันอยู่ตลอด การกลับมาประเทศไทยครั้งล่าสุด พี่แจ็คก็ได้พาคุณพ่อและคุณแม่มาลองกินหมูกระทะด้วยเช่นเดียวกัน ทำเอาเหล่าบรรดาแฟนคลับแห่ไปร้านหมูกระทะไปตามๆ กัน

ซึ่งการจะกินหมูกระทะอย่างสบายใจ โดยที่ไม่ต้องกังวลกับปัญหาสุขภาพที่ตามมา จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับความเสี่ยงที่อาจเกิดจากพฤติกรรมการกินหมูกระทะที่เราอาจทำโดยไม่รู้ตัว

โรคไข้หูดับ คืออะไร
ข้อมูลจากเว็บไซต์ของโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ โดย ผศ. นพ. ศรัณ ประกายรุ้งทอง ได้มีการเขียนบทความให้ความรู้ และข้อควรระวังจากการกินหมูกึ่งสุกกึ่งดิบเอาไว้ว่า โรคไข้หูดับ คือภาวะติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus Suis (สเตรป-โต-คอค-คัส ซูอิส) ซึ่งแบคทีเรียชนิดนี้มีอยู่ในทางเดินหายใจและในเลือดของหมูที่กำลังป่วย สามารถติดต่อมายังผู้ที่บริโภคเนื้อหมูที่ไม่ได้รับการปรุงให้สุกอย่างทั่วถึง รวมถึงผู้ที่มีบาดแผลหรือรอยถลอกบนผิวหนัง หากทำการสัมผัสกับชิ้นส่วนของเนื้อหมูและเลือดหมูก็สามารถติดเชื้อได้เช่นกัน

โดยกลุ่มผู้ป่วยที่ควรพึงระวังเป็นพิเศษ คือกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว อาทิ โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง และบุคคลที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำจากสาเหตุต่างๆ เพราะถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่หากได้สัมผัสเชื้อแล้ว จะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ 

ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว เกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และติดเชื้อในกระแสเลือด ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง รวมถึงมีอาการอาเจียน คอแข็งขยับไม่ได้ และยังสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนหูดับถาวรได้อีกด้วย หรือในผู้ป่วยบางคนอาจถึงขั้นเสียชีวิต

ตรวจเช็กอาการเบื้องต้นของโรคไข้หูดับ
หากในช่วงไม่เกิน 14 วันที่ผ่านมา ได้มีประวัติการบริโภคหมูกระทะ หรืออาหารที่มีเนื้อหมูเป็นส่วนประกอบ และเกิดอาการไข้สูง ปวดศีรษะ คอขยับไม่ได้ ผู้ที่มีอาการน่าสงสัยดังกล่าว อาจต้องมารับการตรวจเพาะเชื้อจากเลือดและน้ำเยื่อหุ้มไขสันหลัง เพื่อหาเชื้อ Streptococcus Suis และเข้ารับการรักษาต่อไป

ภาวะแทรกซ้อนรุนแรง
ขึ้นชื่อว่า โรคไข้หูดับ ย่อมมีภาวะแทรกซ้อนทางหูเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งภาวะหูดับจะเกิดขึ้นตามหลังภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาการอักเสบจะลามจากน้ำเยื่อหุ้มสมองมายังหูชั้นในจนเกิดการอักเสบ ไปจนถึงมีอาการหูดับที่มักจะเกิดขึ้นสองข้างพร้อมกัน ผู้ที่มีอาการหูดับจะไม่สามารถได้ยินได้อีก ซึ่งจัดเป็นภาวะเร่งด่วนที่ผู้ป่วยต้องได้รับการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียม เพื่อฟื้นฟูการได้ยิน และทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาได้ยินและสื่อสารได้ตามปกติอีกครั้ง 

ภาวะนี้จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยที่รวดเร็ว เนื่องจากยิ่งสมองไม่ได้รับการกระตุ้นจากเสียงนานเท่าไหร่ จะยิ่งสูญเสียความสามารถในการรับฟังไปเรื่อยๆ โอกาสฟื้นฟูจะลดน้อยลง ทำให้อัตราที่การผ่าตัดรักษาจะประสบความสำเร็จน้อยลงตามไปด้วย และอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญมากคือ หากท่อนำเสียงในกระดูกก้นหอยตีบตันจากภาวะหูดับ การผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมแบบมาตรฐานก็จะไม่สามารถทำได้

โรคไข้หูดับ ไม่ได้เกิดขึ้นได้เฉพาะกับผู้ที่ชอบบริโภคหมูกระทะ ปิ้งย่าง และหม้อไฟเท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ที่บริโภคอาหารที่มีเนื้อหมูเป็นส่วนประกอบด้วย แม้เป็นการกินเนื้อหมูดิบเข้าไปโดยไม่ระวังเพียงแค่นิดเดียว หรือการใช้ตะเกียบที่เราใช้คีบหมูดิบมากินอาหารต่อ ก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อแบคทีเรียได้เช่นเดียวกัน 


แหล่งที่มา : โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์