ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักก่อนว่า “ตะคริว” คืออะไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร และ ตะคริวที่เป็นตอนกลางคืนขณะหลับ หรือ Nocturnal Leg Cramps นั้น มีสาเหตุจากอะไรได้บ้าง
ตะคริว (Cramps) เป็นอาการที่กล้ามเนื้อเกิดการหดเกร็งตัวอย่างฉับพลัน มีลักษณะเป็นก้อนแข็ง ทำให้เกิดความเจ็บปวดบริเวณที่กล้ามเนื้อหดเกร็ง ซึ่งบริเวณที่เกิดได้บ่อย คือกล้ามเนื้อน่อง กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง และด้านหน้า
ส่วน ตะคริวกลางคืน ซึ่งมักเกิดขึ้นขณะนอนหลับนั้น มีข้อมูลพบว่า มีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพของกล้ามเนื้อ การทำงานผิดปกติของเส้นประสาท และการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อทำได้ไม่ดีนัก หรืออาจจะเกิดขึ้นจาก “ภาวะความเจ็บป่วย” บางอย่าง ตลอดจนปัจจัยอื่นๆ ได้แก่
- ท่านอนที่ผิดขณะนอนหลับ หากวางเท้าในลักษณะที่ไม่ถูกต้องก็อาจทำให้เป็นตะคริวได้
- ในตอนกลางวันมักนั่ง หรือยืนในท่าเดิมนานๆ ไม่ค่อยขยับร่างกาย
- กล้ามเนื้อทำงานหนักมากเกินไป เช่น ออกกำลังกายหนัก เดินเป็นระยะทางไกล มีการทำงานหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงขาหนักมาก
- กล้ามเนื้อขาดความยืดหยุ่น มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น
- มีภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง หรือหลอดเลือดตีบตัน ทำให้การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อทำได้ไม่ดี
- ปัญหาโครงสร้างร่างกาย เช่น เท้าแบน หรือโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ
- มีปัญหาสุขภาพในด้านต่างๆ เช่น เส้นประสาททำงานผิดปกติ เส้นประสาทเสื่อมจากโรคเบาหวาน ปลายประสาทอักเสบ โรคพาร์กินสัน โรคหัวใจ ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ โรคตับ โรคไต หรือภาวะขาดน้ำ เป็นต้น
ทั้งนี้ การเกิดตะคริวอาจมีหลายปัจจัยร่วมกัน ดังนั้น เราจึงควรสังเกตอาการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นร่วมด้วย เพื่อแจ้งแก่แพทย์ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคและเริ่มการรักษาได้เร็วขึ้น
เป็นตะคริวแบบไหน อาการร่วมอย่างไร ควรรีบพบแพทย์
บางคนอาจเป็นบ่อยจนคิดไปว่า การเป็นตะคริวตอนนอน เป็นเรื่องปกติที่ใครๆก็เป็น อย่างไรก็ตาม แพทย์แนะนำวิธีสังเกตตัวเอง หากเป็นตะคริวขณะนอน แล้วมี “สัญญาณ” เหล่านี้ อาจบ่งชี้ว่า มีความผิดปกติบางอย่าง ที่ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัย เช่น
- เป็นตะคริวตอนกลางคืนบ่อยครั้งจนรบกวนการนอน แม้จะดูแลตัวเองดีแล้ว แต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น
- มีอาการขาบวมแดง หรือผิวหนังเปลี่ยนแปลงไป
- มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย
หากคุณไปพบแพทย์ จะมีการซักประวัติ ถามถึงอาการและประวัติการใช้ยาต่างๆ จากนั้น แพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อค้นหาสาเหตุที่เป็นไปได้ รวมถึงอาจมีการเจาะเลือดเมื่อแพทย์สงสัยว่ามีปัญหาอย่างอื่นร่วมด้วย เพื่อจะได้ทำการวินิจฉัยและรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมต่อไป
วิธีการบรรเทาตะคริวด้วยตัวเอง
โดยส่วนใหญ่ “ตะคริวตอนนอน” มักไม่เป็นอันตราย เราสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยตัวเอง ด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้
- นวดคลึงกล้ามเนื้อบริเวณที่เป็นตะคริวเบาๆ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว
- ยืดกล้ามเนื้อ โดยเหยียดขาให้ตรง แล้วค่อยๆ กระดกข้อเท้าขึ้นให้ปลายนิ้วเท้าเข้าหาตัว
- ประคบร้อนในบริเวณที่เป็นตะคริวด้วยกระเป๋าน้ำร้อนหรือผ้าชุบน้ำร้อน หรือประคบเย็นด้วยผ้าเย็นหรือถุงน้ำแข็งที่ห่อด้วยผ้าขนหนูอีกชั้นหนึ่ง
- หากมีอาการปวดสามารถรับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล หรือยาไอบูโพรเฟน
และต่อไปนี้เป็น “ตัวช่วย” สำหรับการดูแลตัวเอง เพื่อหลีกเลี่ยงตะคริวขณะนอน
เพื่อการนอนหลับสนิทตลอดคืนโดยไม่ต้องตื่นมากลางดึกเพราะเป็นตะคริวที่ขา สิ่งที่เราควรทำประจำวัน ซึ่งทำได้ง่ายๆ ไม่ต้องเปลืองเงิน และไม่เสียเวลาอะไรมากมาย มีดังนี้
- พยายามยืดเหยียดกล้ามเนื้อบ่อยๆ อย่านั่งหรือยืนในท่าเดิมเป็นเวลานานๆ
- ควรยืดเหยียดกล้ามเนื้อทั้งก่อนและหลังเล่นกีฬา หรือออกกำลังกาย
- พยายามกระดกข้อเท้าขึ้นลงบ่อยๆ เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดี และป้องกันกล้ามเนื้อน่องหดตัว
- ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อย 8-10 แก้วต่อวัน เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะขาดน้ำ
- พยายามลดการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น กาแฟ ช็อกโกแลต เป็นต้น
- เลือกรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วย แคลเซียม เช่น โยเกิร์ต ชีส นมถั่วเหลือง อาหารที่มี โพแทสเซียม เช่น โกโก้ ลูกพรุน เมล็ดทานตะวัน กล้วย ปลาแซลมอน ผักโขม และอาหารที่มี แมกนีเซียม เช่น กล้วย ถั่วลันเตา ผักโขม ข้าวโพด เมล็ดฟักทอง งา โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์ควรได้รับสารอาหารเหล่านี้มากกว่าคนทั่วไป